รูปเกิดจากสมุฏฐานใดบ้าง


        ผู้ฟัง รูปที่มีใจครอง อย่างเช่นคน สัตว์ทุกชนิด รูปที่ไม่มีใจครอง อย่างโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ ต้นไม้ เราจะเห็นความแตกต่างได้อย่างไร

        สุ. ค่ะ รูปเกิดจากสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน ลักษณะที่แข็งเป็นปฐวีธาตุ จะเกิดจากสมุฏฐานใดก็แข็ง เฉพาะลักษณะของปฐวีธาตุ ต้องพูดทีละรูป เปลี่ยนแข็งที่โต๊ะไม่ให้แข็ง เปลี่ยนแข็งที่ตัวไม่ให้แข็งได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        สุ. เพราะฉะนั้นแข็งอยู่ที่ไหน ลักษณะนั้นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้

        ผู้ฟัง ความแตกต่างระหว่างรูปที่ไม่มีใจครอง อย่างโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ เปรียบเทียบกับสัตว์โลกที่ประกอบด้วย ๔ สมุฏฐาน ผมว่าน่าจะมีความแตกต่างกันบ้าง

        สุ. ตรงไหนต่าง คิดได้สารพัดค่ะ แต่ต่างกันตรงไหน แข็ง ต่างกันตรงไหน

        ผู้ฟัง ไม่ต่าง แต่รูปที่มีใจครอง สามารถประกอบด้วยเหตุปัจจัย คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ส่วนรูปที่ไม่มีใจครอง ก็แค่อุตุเป็นส่วนประกอบเท่านั้นเอง

        สุ. ค่ะ แต่ลักษณะของรูปไม่เปลี่ยน ธาตุดินที่แข็ง อยู่ตรงที่ไหนก็แข็ง ไม่ว่าเกิดจากสมุฏฐานใด เฉพาะธาตุดิน

        ผู้ฟัง แล้วรูปที่เกิดจากกรรม มีอะไรแตกต่างจากรูปที่เกิดจากอุตุไหมครับ

        สุ. ค่ะ กรรมไม่ได้ทำให้รูปเกิดค่ะ กรรมทำให้จักขุปสาทเกิดเป็นรูปประเภทหนึ่ง กรรมทำให้โสตปสาทเกิดเป็นรูปอีกประเภทหนึ่ง

        ผู้ฟัง แล้วรูปที่เกิดจากจิต

        สุ. รูปที่เกิดจากจิต ก็ได้แก่การยิ้ม การหัวเราะ การพูด ถ้าไม่มีจิตคิดจะพูด พูดได้ไหมคะ มีเสียงออกมาได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ และรูปที่เกิดจากอาหาร

        สุ. ก็อาหารที่บริโภครับประทานเข้าไปถึงกาลที่จะทำให้รูปเกิด รูปก็เกิด

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นรูปที่เป็นของสัตว์โลกกับรูปที่เกิดจากอุตุ ก็คือรูปที่เกิดโดยธรรมชาติ

        สุ. มีทั้ง ๔ สมุฏฐาน สำหรับสัตว์บุคคล

        ผู้ฟัง ก็ต้องมีความแตกต่างกัน ถูกไหมครับ

        สุ. ตรงนี้พอได้ยินคำว่า “รูปขันธ์” สงสัยไหมคะ หรือลืมไปแล้ว

        ผู้ฟัง ไม่สงสัยครับ จำได้

        สุ. รูปขันธ์จำได้ สภาพธรรมที่ต่างจากรูปขันธ์ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีไหมคะ

        ผู้ฟัง มีครับ

        สุ. อะไร

        ผู้ฟัง นามขันธ์

        สุ. อะไรบ้าง

        ผู้ฟัง จิต เจตสิก

        สุ. ค่ะ ขณะนี้อะไรเป็นนามขันธ์

        ผู้ฟัง จิตครับ

        สุ. จิตอะไรเป็นนามขันธ์

        ผู้ฟัง จิตเห็น

        สุ. เห็น นี่ค่ะ เราพูดง่ายๆ มากเลย เห็นเป็นนามขันธ์ ใครตอบไม่ได้ ไม่มีใช่ไหมคะ แต่ที่จะรู้ ฟังเพื่อจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี เช่น เห็นกำลังมี จะฟังไปอีกมากน้อยเท่าไร ไม่ต้องกังวลเลย เพราะเราเคยไม่รู้ความจริงของนามธรรมมานานแสนนาน เพราะฉะนั้นจะให้หมดความสงสัยในนามธรรมทันที เป็นไปไม่ได้ แต่ยิ่งฟังก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยถึงความต่างกันของธาตุซึ่งเกิดแล้วไม่รู้อะไรเลย เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส กับธาตุอีกชนิดหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ในขณะนั้น เช่น ขณะนี้พูดได้ว่ามีเห็น และเรียกชื่อได้ว่าเป็นนามธรรม และบอกได้ด้วยว่า เป็นนามขันธ์ เพราะเหตุว่านามธรรมทั้งหมดก็เป็นประเภทของนามธรรม จะเป็นรูปธรรมไม่ได้

        เพราะฉะนั้นเห็นเป็นนาม เป็นธาตุ เป็นนามขันธ์ แต่กำลังเห็นก็ยังไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีทั้งหมด ถ้ารู้ความจริงว่าเป็นธรรม เป็นธาตุ ก็คือไม่มีเราเลย ถ้ามีเราอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังคงมีการยึดมั่น ยังมีการแสวงหา ยังต้องตายแล้วเกิดอีกต่อไป แต่ว่าถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็ไม่หลงคิดว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจขั้นฟังก็อย่างหนึ่ง เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ต้องเป็นอีกขณะหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่อาศัยการฟังเข้าใจจริงๆ การที่จะรู้ลักษณะที่กำลังเห็น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

        เพราะฉะนั้นเราได้ยินชื่อธรรม เช่น สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ แต่รู้ไหมว่า ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วกำลังรู้ลักษณะ นั่นแหละคือ สติปัฏฐาน

        ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า เราไม่มี แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจธรรม ก็คงต้องถามว่า เรา คืออะไร

        สุ. ทั้งหมดที่ไม่รู้ ก็เป็นเราเห็น เราได้ยิน

        ฟังธรรมก็เหมือนฟังเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่อยู่ที่ไหนที่จะไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และยังคงไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะฟังจนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 316


    หมายเลข 12324
    24 ม.ค. 2567