อยากรู้ความหมายของคำหรือเข้าใจสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้


        สุ. ค่ะ ก็คงไม่ลืมว่า การศึกษาธรรมคือรู้ว่า ธรรมคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แค่นี้ก่อนนะคะ เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปติด หรืออยากจะรู้ความหมายของคำว่า “ขันธ์” แต่ละชื่อ ขณะนี้อะไรที่มีจริง

        นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถเริ่มเข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นการฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

        ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น ถูกต้องไหมคะ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับเร็วมาก เพียงแค่สามารถปรากฏให้เห็นนิดเดียว แล้วก็ดับไป ระหว่างเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ความจริงขณะนั้น คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ลักษณะนี้เห็นเมื่อไร ก็มีสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้แหละ คือ ปรากฏให้เห็น เห็นอีก ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็เป็นอย่างนี้แหละ และสภาพที่เห็นขณะนั้นก็คือ ธาตุที่สามารถเห็น คือ กำลังเห็น คือฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม ที่ฟังเพื่อเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อละความไม่รู้

        เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ แล้วนะคะ เวลาที่เสียงมี ปรากฏทางหู แต่เสียงก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เสียงก็มีจริงๆ และเสียงก็ปรากฏสั้นๆ แล้วก็ดับไป ถ้าเป็นการรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม เห็น มี ได้ยิน มี แต่เวลาเห็น มีสีสันวัณณะปรากฏ เวลาได้ยินก็มีเสียงปรากฏ ทั้งสีที่ปรากฏ และเสียงที่ปรากฏ ต้องมีอายุเท่ากัน หมายความว่าต้องเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็วทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ ต่างกับนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้

        เพราะฉะนั้นผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้งทรงแสดงว่า รูปที่เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะนี่เร็วมาก

        เพราะฉะนั้นก่อนอื่นฟังเรื่องเห็น กำลังมีเห็น ให้เข้าใจว่าที่เราเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ถูกต้อง หรือจะต้องมีความรู้ว่า เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏสั้นมากเช่นเดียวกับเสียงที่ปรากฏทางหู หรือว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ที่ปรากฏทางกายก็สั้นมาก กลิ่น รสทั้งหมด เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และมีอายุที่สั้นมาก สภาพธรรมที่กล่าวถึง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้

        นี่คือขณะนี้ เดี๋ยวนี้ที่จะเข้าใจว่า ธรรมเหล่านี้เป็นรูปธรรม ซึ่งรูปธรรมแต่ละลักษณะก็ต่างกันไป เช่น เสียง ก็ไม่ใช่กลิ่น แต่ทั้งหมดก็เป็นประเภทของธรรมที่เป็นรูป คือไม่ใช่สภาพรู้

        เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงประมวลลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เป็นรูปธรรมที่สามารถรู้ได้ทางใจ แต่เมื่อสภาพธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้ มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของรูปธรรมแต่ละรูป ก็เป็นรูปขันธ์

        อันนี้พอจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ และรู้ว่าคำนี้มาจากไหน คำว่า “ขันธ์” ไม่ใช่ลอยๆ แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏนี่แหละ ซึ่งเป็นสภาพไม่รู้อะไรเลย เป็นรูป และรูปอื่นๆ ซึ่งไม่รู้อะไรเลย ทั้งหมดก็เป็นรูป จึงเป็นรูปขันธ์ รวมเป็นประเภทของรูป ซึ่งเป็นรูปขันธ์

        ตรงนี้ยังมีใครสงสัยความหมายของรูปขันธ์ไหมคะ

        สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นเสียง เสียงก็ไม่รู้อะไร กลิ่นก็ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นเสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป รวมประเภทธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เป็นรูป ก็เป็นรูปขันธ์ คือ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นรูปที่ไม่ใช่สภาพรู้ ตรงนี้หมดสงสัยหรือยังในคำว่า “ธรรม” ในคำว่า “รูป” ในคำว่า “รูปขันธ์”

        ผู้ฟัง ค่ะ สงสัยตรงที่จะพิจารณาได้อย่างไร ถ้าพูดถึงรูป ๒๗ หรือ ๒๘

        สุ. ยังไม่พูดถึง ๒๗ หรืออะไรเลย คือ ขณะนี้มีรูปที่ปรากฏ ฟังให้เข้าใจ ถ้าจะได้ยินคำว่า “ขันธ์” ขันธ์ ไม่ใช่คำลอยๆ แต่กล่าวถึง หมายถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น และลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น ขณะนี้เสียงไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นเสียงเป็นรูปธรรม เป็นธรรมที่เป็นรูป คือ เป็นธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ กลิ่นก็เป็นธรรมที่ปรากฏ ได้กลิ่นเมื่อไร ลักษณะของกลิ่นก็ปรากฏ ซึ่งกลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ ลักษณะของธรรมทุกประเภท ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปขันธ์ หมายความว่าเป็นส่วน เป็นธรรม เป็นกอง หรือรูปทั้งหมดนั่นเอง รวมแล้วก็เป็นรูปขันธ์

        แค่นี้ค่ะ ฟังธรรมต้องเข้าใจตามลำดับ ไม่ใช่เข้าใจอื่นด้วย เข้าใจเดี๋ยวนี้ที่เสียงปรากฏ เข้าใจเดี๋ยวนี้ที่สิ่งที่ปรากฏปรากฏ เข้าใจขณะที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เลื่อนลอย หมายถึงสิ่งที่มีเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปขันธ์ แค่นี้ ตรงนี้เข้าใจหรือยังคะ

        ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจค่ะ

        สุ. ยังไม่เข้าใจอะไรคะ

        ผู้ฟัง คือ ที่ดิฉันไม่เข้าใจสงสัยอยู่ เวลาที่พูดว่า รูปรวมกัน

        สุ. รูปแต่ละรูปเป็นสภาพไม่รู้ เมื่อกล่าวถึงสภาพไม่รู้ทั้งหมดรวมแล้วทั้งหมดเลยเป็นรูปขันธ์ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่สภาพไม่รู้แล้วจะเป็นอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อรวมประเภทของธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งหมด จึงกล่าวว่า รูปขันธ์ หมายความว่ารวมรูปทุกประเภท

        ผู้ฟัง รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นรูปทุกประเภท

        สุ. ถ้าอย่างนั้นถามว่า เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า

        ผู้ฟัง เป็นค่ะ

        สุ. ป็นรูปหรือเปล่า

        ผู้ฟัง เป็นรูปค่ะ

        สุ. เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า

        ผู้ฟัง เป็นรูปขันธ์ด้วย เพราะเสียงไม่รู้อะไร ท่านอาจารย์พูดถึงว่า ไม่ว่าสี หรือว่าเสียง หรือรูปว่า มีอายุเกิดดับเท่ากัน แต่บางครั้งเรารู้สึกว่า เราได้ยินนานมาก หรือบางครั้งจะรู้สึกเย็นมาก ตรงนี้หมายความว่าเกิดดับเท่ากัน เพียงแต่จิตเกิดซ้ำหรืออย่างไรคะ ถึงนาน

        สุ. ค่ะ จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ รู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตเกิดดับเร็วกว่ารูป เพราะฉะนั้นกว่ารูปๆ หนึ่งซึ่งเป็นสภาวะรูปจะดับไป จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ แต่ให้เข้าใจว่า รูปดับเร็วแค่ไหน คนที่ไม่รู้ ก็เห็นว่ารูปนานมาก ไม่เห็นดับสักที แต่ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็รู้จริงว่า สภาวะรูปทุกประเภทมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

        เพราะฉะนั้นเคยเห็นว่า เห็นนาน ไม่ดับสักที เห็นถูกหรือเห็นผิด ก่อนที่จะฟังธรรม เห็นถูก หรือเห็นผิด แต่พอฟังแล้ว พอเข้าใจได้ไหมว่า ขณะนี้มีเห็น เหมือนไม่ดับเลย แต่ทำไมมีได้ยิน ในเมื่อจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จิตเห็นจะได้ยินไม่ได้ และจิตได้ยินก็จะเห็นไม่ได้

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ได้ยินสั้น ฉันใด สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไปรวดเร็ว สั้นเท่ากันทั้งหมดเลย กว่าจะคลายการที่เคยไม่รู้ การที่เคยหลง ยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยง ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะต้องรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ไปไตร่ตรอง ตรึกตรองถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ไปนึกอย่างอื่น โดยที่ไม่เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องรู้ว่า ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพื่อจะได้ละคลายความติดข้อง เพราะความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และจะรู้ได้เลยว่า ความติดข้องมากมายระดับไหน ซึ่งยากแค่ไหนที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง

        ถ้าขณะนี้จะกล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ยากที่จะเชื่อ เพราะเคยจำไว้แน่นหนาว่า เป็นแน่นอน แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง เพราะปรากฏ ส่วนการทรงจำรูปร่างสัณฐาน และคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเพียงปรากฏ เป็นอื่นไม่ได้เลย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315


    หมายเลข 12321
    24 ม.ค. 2567