สัปปายะ-สบายที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา


        ผู้ฟัง คำว่า “สัปปายะ” กับ “โลภะ” อยู่ในประเด็นเดียวกันหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเรามองหาอาหารที่สัปปายะ หรือหาสถานที่ที่สัปปายะ ก็แปลว่า เรากำลังต้องการบางอย่าง อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า จะจัดเข้าในประเด็นเดียวกันหรือเปล่า

        สุ. ค่ะ ก็คงไม่ลืมว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่คำธรรมดาที่เราได้ยิน เรายังสงสัย แล้วเราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แม้แต่คำภาษาบาลีที่ว่า “สัปปายะ” หรือภาษาไทยว่า “สบาย” เกี่ยวข้องอะไรกับธรรมในการอบรมเจริญปัญญาหรือเปล่า เพราะว่าทุกคนก็รู้เรื่องความสบายของตัวเอง ชอบอากาศเย็น หรือชอบอากาศร้อน แต่ละบุคคลก็รู้จักความสบาย แต่นั่นจะเป็นประโยชน์ต่อธรรมหรือเปล่า ถ้าเราปิดประตูห้องหมดเลย ปิดพัดลมด้วย คุณวิจิตรรู้สึกอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง ก็ร้อนอบอ้าว

        สุ. ค่ะ ฟังธรรมรู้เรื่องไหม อยากจะฟังต่อไป หรือขอออกไปข้างนอกสักครู่หนึ่ง พอให้สบายๆ เย็นๆ แล้วกลับเข้ามาใหม่ บางคนเป็นอย่างนี้ ข้างในนั่งไม่ได้ ชอบนั่งตามโคนต้นไม้ แล้วก็บอกว่า ข้างนอกสบายดีสำหรับบุคคลนั้น

        เพราะฉะนั้นแต่ละคนมุ่งหวังอะไรในการศึกษาธรรม แล้วได้ยินคำว่า “สัปปายะ” ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ทั้งหมดเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา แต่ว่าการสะสมของแต่ละบุคคลก็ต่างอัธยาศัย

        เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่า เราปิดประตูหมด ปิดพัดลมหมด คุณวิจิตรบอกว่าร้อน ไม่สบาย เราเปิดหมดเลย พัดลมก็เปิด อากาศก็สบายดี อาหารก็อร่อย ทุกอย่างก็ดี คุณวิจิตรรู้สึกอย่างไรคะ

        ผู้ฟัง ก็จะทำงานได้ดีขึ้น

        สุ. แน่ใจหรือคะ

        ผู้ฟัง คือสัปปายะผมว่า มันเป็นเรื่องของโลภะหรือเปล่า ยังข้องใจอยู่

        สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าได้ยินคำเดียว ถ้าเราไม่เข้าใจคำนั้นจริงๆ พร้อมทั้งจุดประสงค์ด้วย เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดประสงค์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า เพียงแค่สบาย มีใครบ้างที่ไม่รู้จักคำนี้ ทุกคนรู้จัก แต่รู้จักเพื่ออะไร เพื่อตัวเองจะได้สบาย แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรม ธรรมสัปปายะ คนหนึ่งชอบธรรมอย่างนี้ อีกคนหนึ่งชอบธรรมอีกอย่างหนึ่ง บางคนบอกสูงไป ฟังไม่รู้เรื่องเลย

        สุ. ที่จริงแล้ว ใครไม่รู้ ถ้าลองฟังจริงๆ เรื่องตา ทุกคนก็มี เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคนก็มีแล้ว

        เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าไม่ใช่ธรรมที่สบาย ที่จะฟังเข้าใจ หมายความว่าอะไร ทั้งๆ ที่ธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูก ตรง และจริงด้วย เช่น ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วดับไป มีใครบ้างที่ไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยแล้ว เป็นสิ่งที่เหมาะ ที่ควร ที่จะอบรม ที่จะเข้าใจขึ้นหรือเปล่า

        นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คำว่า “สัปปายะ” เราอ่านหลายๆ สูตร แม้แต่สัปปายสูตร พูดถึงการที่สภาพธรรมเปลี่ยนแปลง เกิดแล้วก็ดับไป เป็นความจริงที่ควรจะรู้ยิ่ง ไม่ใช่เราไปคิดถึงเรื่องอาหารสบาย ที่นอนสบาย อากาศสบาย หรืออะไรเท่านั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงก็สบายสำหรับใคร และเหมาะสำหรับใคร บุคคลนั้นก็รู้เอง และไม่ใช่ว่าไม่ให้แก้ไข ไม่ใช่ว่าพอร้อนๆ ก็ทนร้อนไป ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าถ้าคิดอย่างนั้น ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา”

        อนัตตา คือ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม แม้แต่ขณะนี้ถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นไปรับประทานน้ำ เป็นปกติหรือเปล่า สบายหรือเปล่า ทำได้หรือเปล่า หรือว่าทำไม่ได้

        นี่คือมีความเป็นตัวตนที่พยายามหากฎเกณฑ์ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้เข้าใจว่า การฟังธรรม จุดประสงค์อย่างเดียว เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้นไม่วาจะพบข้อความใดก็ต้องสอดคล้องกันด้วย เพราะว่าสัปปายสูตรสำหรับท่านพระสารีบุตร หมายความถึงสภาพธรรมขณะนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป สบายที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าไม่ใช่เรา สบายไหมคะ เดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อนเลย แต่เมื่อไม่ถึงปัญญาระดับนั้น ก็มีหนทางที่ว่า เมื่อสิ่งนี้เป็นความจริง และจะทำให้ปลดเปลื้องจากความทุกข์ทั้งปวง ก็เห็นประโยชน์ที่ว่า ถ้ายังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ยังต้องเป็นทุกข์ต่อไป

        ด้วยเหตุนี้สำหรับแต่ละบุคคล ความสบายก็ต่างกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราเอาความสบายอย่างที่เราเข้าใจธรรมดาๆ ทางโลกมาใช้ในพระไตรปิฎก

        ผู้ฟัง ขอเล่าประสบการณ์นิดหนึ่ง คือ กระผมคุมสอบคัดเลือก ระหว่างเดือนเมษา อากาศก็ร้อนมาก ก็มีเพื่อนอาจารย์หญิงก็บ่นว่าร้อนๆ เขาถามผมว่า ร้อนไหม ผมบอกว่า ร้อน ผมก็ไม่ใส่ใจว่าจะร้อน จะหนาวนสักแค่ไหน อยู่ได้สบาย แต่ถ้าบอกว่าร้อนจังเลย เหมือนกับเราไปสนใจกับอากาศร้อน ทำให้ใจไม่สบาย ผมว่าอันนี้ก็เข้ากับสัปปายะได้เหมือนกันใช่ไหมครับ

        สุ. ค่ะ คุณวิจิตรมีเพื่อนฝูงมิตรสหายหลายคน แล้วเวลาที่มีความหวังดีต่อเขา ทำอะไรให้เขา อาจจะพูดอย่างที่คุณวิจิตรพูด ไปสนใจอะไรกับร้อน เดี๋ยวยิ่งร้อนใหญ่ ใช่ไหมคะ ร้อนก็ร้อนไป คุณวิจิตรอาจจะว่าอย่างนั้น แต่เขาพร้อมจะเข้าใจหรือเปล่า สิ่งที่คุณวิจิตรทำ สำหรับคุณวิจิตร แต่สำหรับเพื่อนคนนั้นเขาพร้อมไหมที่จะคล้อยตาม แต่ถึงแม้ว่าจะคล้อยตาม ก็ไม่ใช่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้นการเป็นมิตรที่ดี ที่ประเสริฐ ก็คืออนุเคราะห์ สงเคราะห์ให้คนอื่นมีความเข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงให้เขาพ้นทุกข์จากความร้อนเพียงชั่วคราว หรือเพียงแต่คิดอย่างนี้ก็แล้วกัน อย่างนั้นก็แล้วกัน แต่ก็ไม่ใช่การอบรมปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

        เพราะฉะนั้นก็มีหลายระดับ เราก็ไม่สามารถมีวิธีการ หรือมีกฎเกณฑ์สำหรับใครๆ ได้ นอกจากจะรู้จักคนที่เราพร้อมจะอนุเคราะห์ดีจริงๆ ถึงสามารถจะอนุเคราะห์ได้

        ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นกฎเกณฑ์ แต่ว่าการฟังธรรมทุกครั้ง ให้เห็นความละเอียด และให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และสามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นไม่ชื่อว่า ฟังธรรม เป็นฟังเรื่องอื่น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315


    หมายเลข 12319
    24 ม.ค. 2567