ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ


        สุกัญญา ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่สติสามารถระลึกรู้ได้เป็นอย่างไร

        สุ.เดี๋ยวนี้มีปรมัตถธรรมหรือเปล่า

        สุกัญญา คือจากการฟัง จากการศึกษาก็มีปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่มีสติที่ระลึกได้

        สุ. ค่ะ เพราะอะไรคะ

        สุกัญญา เพราะปัญญายังไม่เกิด

        สุ. ก็ถูกต้อง

        สุกัญญา ค่ะ แต่ว่าในขณะเดียวกัน สภาพปรมัตถธรรมแต่ละทางเป็นหนึ่งหรือเปล่าคะ หมายถึงไม่มีสอง

        สุ. เสียงกับแข็ง เหมือนกันหรือเปล่า

        สุกัญญา เสียงกับแข็ง ไม่เหมือนกัน

        สุ. เพราะฉะนั้น ๑ หรือเปล่า เสียง ๑ แข็ง ๑

        สุกัญญา ค่ะแต่ละทาง แต่สุกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ในทางหนึ่งมีปรมัตถธรรมเพียง ๑ ไม่มี ๒ ใช่ไหมคะ

        สุ. หมายความว่า จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะรู้อารมณ์ ๒ อย่าง หรือรู้อารมณ์อย่างเดียว

        สุกัญญา รู้อารมณ์อย่างเดียวค่ะ แต่ลักษณะสติสัมปชัญญะที่ระลึกได้ทางหนึ่งทางใด เช่น ทางกาย ระลึกได้หลายประเภท ทางหู เป็นประเภทเดียวที่สามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูได้ แต่ว่าในความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ที่เรามีความคิดนึกสืบต่อ ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ไม่ได้เป็น ๑ เดียว หมายถึงมีเสียงหลายๆ เสียง หลายๆ ชนิด หลายๆ ประเภท

        สุ. ค่ะ ทีละ ๑ หรือเปล่า หรือพร้อมกันหลายๆ เสียง

        สุกัญญา ทีละ ๑ ค่ะ ถ้าสติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เพียง ๑ แล้วดับ แล้วหมดไป อีก ๒ – ๓ วัน สติสัมปชัญญะเกิดระลึก

        สุ. ทำไมห่างปานนั้น อีกตั้ง ๒ – ๓ วัน

        สุกัญญา ก็ปัญญาน้อย

        สุ. เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เสียงนั้นแล้ว ๒ – ๓ วัน ไม่ใช่เสียงเก่าแล้ว คนละเสียงแล้ว

        สุกัญญา แล้วลักษณะปรมัตถธรรมจะเป็นอย่างเดียวกันไหมคะ

        สุ. ทางหู สามารถจะรู้กลิ่นได้ไหม

        สุกัญญา ไม่ได้ค่ะ

        สุ. เพราะฉะนั้นต้องเป็นเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ และต้องเป็นเสียงที่เกิดขึ้นด้วย ถ้าเสียงยังไม่เกิด เสียงก็ปรากฏไม่ได้ และเสียงแต่ละเสียงที่ปรากฏ ก็มีปัจจัยให้เสียงเกิดแล้วก็ดับไป

        สุกัญญา แต่ว่าปัจจัยที่ทำให้เสียงเกิด ก็มีมากมายหลายชนิด

        สุ. ด้วยเหตุนี้เสียงจึงหลากหลาย ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจะรู้ไหมว่า เสียงหลากหลาย

        สุกัญญา ถ้าเช่นนั้น ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่ระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นปรมัตถธรรมแต่ละครั้ง ก็จะต่างกัน

        สุ. ลักษณะของสติ เป็นสภาพที่รู้ ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้สึก เพราะฉะนั้นสติจะเป็นอื่นไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่สติระลึก แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรเกิดปรากฏแล้วสติเกิดระลึกรู้สิ่งนั้น สติจะไปเลือกรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏไม่ได้ ไม่มีหน้าที่ที่จะไปเลือกเลย ต้องมีสิ่งที่เกิดแล้ว ใช่ไหมคะ แล้วสติจึงตามรู้ ไม่ใช่ไปรู้อื่น ลักษณะนั้นมีปรากฏให้รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นจะไประลึกรู้อะไร

        สุกัญญา ถ้าอย่างกาย ธาตุดินปรากฏ ให้สติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ธาตุดินนั้นก็มีคุณสมบัติที่ต่างกัน มิฉะนั้นธาตุดินก็จะไม่ปรากฏทั้งแข็ง และอ่อน ซึ่งลักษณะของสติสัมปชัญญะที่ระลึกปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางกาย เป็นธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในแต่ละขณะที่สติสามารถระลึกได้เหมือนกันหรือต่างกัน

        สุ. ค่ะ แข็งกับอ่อน เหมือนกันไหมคะ

        สุกัญญา ไม่เหมือนแน่นอน

        สุ. ถ้าแข็งปรากฏ สติรู้อะไร

        สุกัญญา รู้แข็งค่ะ

        สุ. ถ้าอ่อนปรากฏ เกิดขึ้น สติรู้อะไร

        สุกัญญา รู้อ่อนค่ะ แต่มันจะมีแข็งมากแข็งน้อย แข็งกลาง ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ น่าจะเป็นคิดนึก ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถธรรม แต่ปัญญาน้อยค่ะ

        สุ. เวลานี้แข็งกำลังปรากฏ กำลังรู้แข็ง ต้องมีการเปรียบเทียบไหมแข็งน้อย แข็งมาก หรือว่าแข็งปรากฏแล้วก็หมดไป ให้ละความไม่รู้ในสภาพที่เป็นสภาวะธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเพียงปรากฏทางกายเท่านั้นเอง ทุกอย่างที่ปรากฏแต่ละทางก็คือเกิดขึ้นปรากฏแต่ละทางเท่านั้นเอง แล้วก็หมดไป แต่ว่าความจำ และการคิดนึกปรุงแต่งจนกระทั่งไม่ลืม เช่นขณะนี้ที่พูดถึงเห็นบ่อยๆ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็กล่าวถึงจักขุทวาร ก่อนอื่นเลย จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ไม่ได้ทิ้งจักขุเลย เพราะขณะนี้ก็มีรูปที่ปรากฏทางตา ให้เข้าใจจริงๆ เมื่อไร ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และปรากฏได้เพราะเห็นเท่านั้นเอง จะมีอะไรเกินกว่านี้

        นี่คือการจะละความเป็นเรา ความเป็นตัวตน และความสำคัญ ความยึดมั่นในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งติดตามการเห็น ให้รู้ความเป็นจริงค่ะ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302


    หมายเลข 12251
    27 ม.ค. 2567