ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม กลายเป็นเราศึกษาธรรม


        ประทีป ถ้าหากว่าในขณะที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะรู้แต่เพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางหู สิ่งที่ปรากฏทางจมูก สิ่งที่ปรากฏทางลิ้น สิ่งที่ปรากฏทางกาย แต่เนื่องจากในชีวิตประจำวัน มีสิ่งต่างๆ มากมาย และถ้ารู้ความจริงเพียง ๕ – ๖ สิ่งนี้ จะสามารถครอบคลุมโลกทั้งโลกได้หรือครับว่า อันนี้เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ที่มีความวิจิตรพิสดาร

        สุ. ค่ะ คุณประทีปกล่าวว่า สิ่งต่างๆ มีเยอะ ถูกต้องไหมคะ

        ประทีป ถูกครับ

        สุ. รู้ได้กี่ทาง

        ประทีป รู้ได้ ๖ ทางครับ

        สุ. มากกว่านั้นหรือเปล่า

        ประทีป ไม่มากกว่าครับ แต่เนื่องจากท่านอาจารย์ได้เคยอธิบายไว้ว่า ในขณะที่สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นไม่มีชื่อ แต่สามารถสื่อความหมาย หรือเรียกชื่อกันได้ว่า ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่าแข็ง ลักษณะของแข็ง เรายังไม่รู้เลยว่า เป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือเป็นไมโครโฟนที่ผมกำลังจับอยู่

        สุ. ถ้าเป็นโต๊ะ เป็นตัวตนหรือเปล่า

        ประทีป เป็นตัวตนครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมเพื่อให้มีความเห็นถูกต้องว่า ธรรมแต่ละลักษณะเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

        ประทีป แต่ความเข้าใจขั้นการฟัง ก็มีความสนใจที่จะรู้ว่า เหตุใดเราจึงเรียกว่า สิ่งนี้เป็นไมโครโฟน หรือจับแล้วมีแข็ง แล้วก็นึกคิดออก

        สุ. ถ้าหลับตาในห้องมืด คุณประทีปจับแล้วรู้ไหมว่า จับอะไร

        ประทีป ไม่รู้ครับ ต้องนึกหลายๆ ครั้งก่อน ก็เหมือนเดา

        สุ. เพราะฉะนั้นอะไรจริง

        ประทีป ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เป็นความจริงที่ปัญญารู้ได้ ก็คือรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

        สุ. ทางกายก็จะรู้เพียงแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว คือ สิ่งนั้นที่กำลังปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง

        ประทีป แต่สิ่งที่ปรากฏนั้น ถึงแม้จะรู้ทางตาอย่างเดียว สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็จะต้องมีลักษณะต่างๆ กัน จึงเรียกชื่อของสิ่งที่ปรากฏทางตาต่างๆ กันนั้นว่า เป็นดอกไม้บ้าง เป็นวิทยากรบ้าง เป็นไมโครโฟนบ้าง ถ้าอย่างนั้นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงแม้จะมีเพียง ๖ ลักษณะ แต่ลักษณะที่ปรากฏนั้น จะต้องปรากฏลักษณะที่ต่างๆ กัน แต่ไม่มีชื่อ

        สุ. ค่ะ ด้วยเหตุนี้เราจึงเข้าใจความหมายของคำว่า “ขันธ์” หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เร็ว ประณีต ก็แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร ก็ไม่พ้นจาก ถ้าเป็นรูป ก็เป็น รูปขันธ์จะไปเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ไม่ได้ ธรรมประเภทไหนก็เป็นประเภทนั้น แม้ว่าจะหลากหลาย เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ก็ต่างกัน

        ประทีป แต่เราไม่สามารถจะแยกแยะออกมาได้ทีละขณะ

        สุ. ไม่ใช่ให้เราไปแยก แต่ให้เข้าใจให้ถูก

        ประทีป ให้เข้าใจให้ถูก เป็นอย่างไรครับ

        สุ. เข้าใจว่าไม่ใช่ขณะเดียว

        ประทีป เนื่องจากสภาพธรรมที่ท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายว่า มีเพียง ๖ อย่างจริง แต่สภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะทางตานั้น ก็มีลักษณะที่ปรากฏต่างๆ กัน จึงเรียกชื่อลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นชื่อต่างๆ กัน ตามความคุ้นเคยของภาษาพื้นเมือง ภาษาพื้นบ้าน ที่แต่เล็กแต่น้อย เราก็ติดอยู่อย่างนี้ตลอดมา

        สุ. ค่ะ แล้วทั้งหมดก็ดับไป โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดที่กล่าวถึงเลย จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร มีลักษณะของปรมัตถธรรมเมื่อนั้น จึงรู้ว่า นี่เป็นสิ่งที่มีจริง อย่างอื่นทั้งหมดผ่านไป ดับหมดแล้ว ไม่เหลือเลย

        ประทีป ไม่กลับมาเลยหรือครับ

        สุ. ไม่กลับมาเลย ไม่เหลือเลย เพราะเหตุว่าเกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน

        ประทีป แล้วขณะนี้เอง มีปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องเป็นของใหม่ทั้งนั้น ใช่ไหมครับ

        สุ. สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

        ประทีป รวดเร็วจนคิดเองไม่ได้

        สุ. มีแต่นิมิต อยู่ในโลกของความฝันว่า มีทุกอย่างที่เที่ยง ยั่งยืน ไม่ได้ดับไปเลย

        ประทีป แล้วปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนี้ ก็ไม่ใช่ปรากฏขึ้นมาลอยๆ จะต้องมีเหตุมีผลของเขาที่เกิด แล้วปรากฏอย่างนั้น

        สุ. เพียงเกิด แล้วก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัย

        ประทีป แต่ความเข้าใจในขั้นการฟังนี้ คงไม่สามารถเข้าใจอย่างนั้นได้เลยครับ

        สุ. การเข้าใจมี ๓ ขั้น ฟังเข้าใจ ถ้าฟังไม่เข้าใจ อย่างไรๆ สติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด ไปเป็นตัวตนที่นั่งทำสมาธิ แล้วไปชื่อว่า “สติ” แต่ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ จนกระทั่งมีความมั่นคง เป็นปัจจัยให้มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นสติอีกระดับหนึ่ง แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ก็กำลังรู้ลักษณะ ซึ่งโดยปกติแม้มีลักษณะที่ปรากฏ ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ขณะใดที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเพราะสติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งนั้น เกิดแล้วจึงรู้ลักษณะของสิ่งนั้นที่ปรากฏ

        ประทีป ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ แล้ว หนทางที่สติปัฏฐานจะระลึก ก็ไม่มีโอกาสเลย ใช่ไหมครับ

        สุ. ความรู้ต้องตามลำดับขั้น

        ประทีป และความรู้ในขั้นการฟังเบื้องต้น ตั้งแต่ท่านอาจารย์ได้อธิบายมาตั้งแต่ ๙ โมงเช้ามานี่ ความรู้ในลักษณะนี้จะต้องติดตัวไปตลอด จนกระทั่งเข้าใจธรรมได้มากขึ้น อย่างนี้ตลอดไปใช่ไหมคะ

        สุ. สะสมไป อีก ๑๐ ปี จะรู้ความต่างไหม ทีละน้อยมาก เหมือนเวลานี้อกุศลเกิดทีละน้อย เรารู้สึกตัวหรือเปล่า ไม่รู้สึกตัวเลย พอเห็น ไปแล้ว ๗ ขณะ แล้วก็ไม่ได้เห็นครั้งเดียว วาระเดียว กี่วาระ เพราะฉะนั้นไปแล้วอย่างไม่รู้สึกตัวเลย ทีละขณะฉันใด กว่าปัญญาจะค่อยๆ อบรม เจริญอย่างปกติ โดยไม่รู้สึกตัวว่า ได้ฟังแล้ว ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

        ประทีป เราก็ไม่สามารถตามรู้ลักษณะได้เลย

        สุ. ได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ธรรมลึกซึ้ง” หรือเปล่าคะ

        ประทีป ด้ยินครับผม

        สุ. สภาพธรรมกำลังเกิดดับไม่ปรากฏ ลึกซึ้งไหม

        ประทีป อันนี้ลึกซึ้งแน่นอน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรได้เลย

        สุ. ถ้ายังมีเรา แล้วก็คอยโอกาส ก็ไม่ใช่การศึกษาธรรม การศึกษาธรรม คือศึกษาให้เข้าใจว่า ไม่มีเรากำลังค่อยๆ เข้าใจธรรม เท่านั้นเอง เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวเป็นเข้าใจ เดี๋ยวไม่เข้าใจ ตามเหตุตามปัจจัย มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ให้เราไปเข้าใจ แล้วมีตัวเรา ที่คอย ที่หวัง ที่ทำ นั่นก็คือไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม กลายเป็นเราศึกษา

        ประทีป ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของการนึกคิดเอาเท่านั้นเอง ไม่ใช่ความจริงที่กำลังปรากฏ

        สุ. เป็นเรา ศึกษาธรรม ไม่ใช่เป็นการศึกษาธรรม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303


    หมายเลข 12253
    27 ม.ค. 2567