คิด-1


        สุกัญญา อย่างสภาพเห็น เห็นแล้วคิดนึก อย่างนี้พอเข้าใจ แต่ลักษณะของความคิดนึกที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่ได้พิจารณาว่าเป็นความคิด คือ จะรู้ว่าเป็นเรื่องราวไปเลย แต่ว่าเมื่อพิจารณา ก็ยังพิจารณาไม่ออกว่า เป็นลักษณะของอารมณ์ที่เกิดทางใจ

        สุ. ชีวิตประจำวันก่อนศึกษาธรรม สงสัยอย่างนี้หรือเปล่า ก่อนศึกษาธรรมมีเห็น ใช่ไหมคะ ก็ไม่เคยสงสัย ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสอร่อยๆ ทุกวัน วันละหลายครั้ง ก็ไม่เคยสงสัย เป็นธรรมดา เวลาที่กระทบสัมผัสก็เป็นธรรมดา แล้วธรรมดานี่คิดหรือเปล่า เป็นธรรมดาว่า คิดนี่มีแน่นอน เหมือนเห็นมี ได้ยินมี แต่เวลาศึกษาธรรมแล้ว ไม่ใช่ให้เราไปติดที่คำ อย่างคำว่า “มโนทวาร” ถ้าไปติดที่คำว่า “มโนทวาร” จะสงสัยว่า มโน คืออะไร ทวารคืออะไร และมโนทวารคืออะไร แต่ถ้าชีวิตประจำวันที่ไม่เคยรู้เลยว่า เห็นเป็นจักขุทวารวิถี เป็นจิตที่ต้องอาศัยตาจึงเห็นได้ อันนี้เข้าใจ ใช่ไหมคะ เริ่มรู้ว่า ชีวิตประจำวันก็คือธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สิ่งที่จริง และจะรู้ความจริงได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดให้รู้ ถ้าไม่มีเห็นขณะที่นอนหลับสนิท จะไปรู้ลักษณะของเห็นก็ไม่ได้ แต่ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น และฟังเรื่องเห็น แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของเห็นว่า เห็นแม้มี แต่เห็นไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร ที่รู้แน่นอนก็คือว่า เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็นได้ ธาตุชนิดนี้มี สามารถเห็นได้ แล้วไม่ใช่เราด้วย

        นี่คือทางตา ทางหู นัยเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นัยเดียวกัน แต่พอถึงใจ ทำไมถึงสงสัย ก็คือคิด เป็นสภาพของธาตุที่สามารถคิด เหมือนขณะนี้ทางตาเป็นธาตุ หรือสภาพธรรมที่สามารถเห็น ไม่ใช่ใคร เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็เห็น

        เพราะฉะนั้นทางใจเมื่อเกิดแล้วก็คิด แต่ไม่เคยรู้ว่า ขณะที่คิดเป็นธรรม แล้วไม่ใช่เรา แล้วเป็นสภาพที่กำลังรู้เรื่อง คือ คิดอะไร สิ่งนั้นก็ปรากฏให้รู้ เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดสิ่งนั้น

        สุกัญญา ในสภาพความคิดนึกซึ่งมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่คิด ไม่ได้มีความรู้สึกว่า เป็นสภาพคิด แต่มีความรู้สึกว่า เป็นโทสะ เป็นโลภะ หรือเป็นความรู้สึกอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็เลยมีความรู้สึกเหมือนกับปนๆ กัน และไม่แจ่มแจ้งในสภาพที่ปรากฏจริงๆ

        สุ. เวลาที่คิด ขณะนั้นมีเรื่องหรือมีคำที่คิด เป็นปกติ ใช่ไหมคะ ยังไม่ต้องไปคิดว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือโทสะ แม้ขณะนั้นมีโลภะหรือโทสะ หรือเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ไม่ใช่ให้ไปรู้สิ่งนั้นๆ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะที่มีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะก่อนฟังหรือหลังฟังแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง คือ คิดก็ยังคงเป็นคิด เปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ เห็นก็ยังคงเป็นเห็น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน อย่างเห็นอย่างนี้ พูดไปเถอะเท่าไรก็ตาม เข้าใจลักษณะของเห็นบ้างไหม ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของเห็น ก็เหมือนคิด พูดไปเถอะ คิดมี เหมือนเห็นมี และคิดก็เป็นสภาพที่กำลังรู้คำหนึ่งคำใด คือเรื่องที่คิดทีละคำ พูดไปอีก ก็ไม่ใช่จะรู้ลักษณะของสภาพที่คิด แต่เริ่มได้ยินได้ฟังเรื่องสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน และเป็นธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

        เพราะฉะนั้นก็ติดตามที่จะฟังให้มีความเข้าใจขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราสามารถจะเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว หรือสามารถจะแทงตลอดในสภาพซึ่งเกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก ทั้งคิดแล้วเหมือนเห็น แล้วเหมือนได้ยินเสียงด้วย เกือบจะว่าได้ว่าพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่สามารถจะแยกได้ แต่จากการฟัง เริ่มเข้าใจ

        เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปทำอะไร การอบรมความรู้ คือ ปัญญา ให้มีความเห็นถูก ให้มีความเข้าใจถูก แล้วก็เป็นหน้าที่ของสภาพธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย จะฟังธรรม ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่มีศรัทธา มีสติ และสภาพโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้นจึงเป็นไปในกุศล เวลาที่ไม่ฟัง เป็นอกุศล ก็ไม่ใช่เราอีก เมื่อไรที่จะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 303


    Tag  คิด  
    หมายเลข 12255
    27 ม.ค. 2567