ตามรู้


        สุกัญญา อย่างแข็งปรากฏ สติระลึกรู้สภาพที่ปรากฏ คือ แข็ง แต่จริงๆ แล้ว เป็นลักษณะของตามรู้ในสิ่งที่เกิด เมื่อตามรู้ในสิ่งที่เกิด

        สุ. ขอโทษนะคะ ภาษาทำให้เรานึกคิดไปตามความเข้าใจของเรา พอได้ยินคำว่า ตามรู้ แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะเข้าใจว่าอย่างไร เพราะว่าแม้แต่คำว่า สติ ใช้คำว่า “สติ” ก็ยังเข้าใจกันไปต่างๆ นานา คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ก็บอกว่า เดินดีๆ ไม่มีสติ เดี๋ยวหกล้ม ก็พูดกันไป แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ

        เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงด้วยพยัญชนะที่ส่องไปถึงลักษณะของสภาพธรรมใด เราควรเข้าถึงลักษณะของคำนั้น เช่น พอพูดถึงสติ ไม่ใช่จำคำว่า “สติ” ไม่ใช่รู้สติเป็นโสภณธรรม โดยชื่อ แต่ว่าลักษณะของสติจริงๆ ต้องเป็นเจตสิก เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับเจตสิกอื่นที่ไม่ใช่สติ ถูกต้องไหมคะ เพราะฉะนั้นควรเข้าถึงลักษณะของสติ ภาษาไทยแปลว่า “ระลึกรู้” ถ้าคนที่เข้าใจเพียงภาษาไทย แต่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็ไปคิดว่าระลึกเรื่องราวอะไรก็ได้ ขณะนั้นกำลังรู้เรื่องนั้น ก็ไปเข้าใจว่า นั่นคือสติ ก็ไม่ถูก แต่เมื่อสติเป็นโสภณธรรม ก็ต้องมีความเข้าใจว่า ทุกขณะที่กุศลจิต โสภณจิตเกิด ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม พระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงความจริง ซึ่งไม่เป็นอย่างอื่นเลย

        ด้วยเหตุนี้ แม้ขณะนี้ที่กำลังฟัง เข้าใจ รู้ไหมว่า มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ไม่รู้ แล้วเราจะไปแปลว่า เป็นสภาพที่ระลึกรู้ ถ้าเราไปยึดติดอยู่ที่คำแปลนั้น แต่ว่าไม่เข้าถึงลักษณะของสติซึ่งเป็นโสภณธรรม ขณะนี้เป็นไปกับการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะว่าจิตได้ยิน คือ โสตวิญญาณ ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ในขณะใดที่จิตเกิด แล้วมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะขณะนั้นสติเป็นไปกับสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน และปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา เจตสิกทั้งหลายที่เกิดดับอย่างเร็วมากก็ร่วมกันทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ไป

        เพราะฉะนั้นอย่าไปติดที่คำว่า “ระลึกรู้” และคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ต้องรู้อรรถ ลักษณะของสติ คือ สภาพที่เป็นไปในทางฝ่ายกุศล ขั้นฟัง ก็มีสติ และในขณะที่ให้ทาน กุศลจิตเกิด ก็มีสติ แต่ก็ไม่รู้ ขณะที่วิรัติทุจริต ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เบียดเบียนคนอื่น ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะไปแปลว่า ระลึกรู้ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่า สติมีลักษณะที่ต่างจากเจตสิกอื่น

        เพราะฉะนั้นเวลาที่พอถึงสติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องไปนึกคำแปล ว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ ปกติไม่เคยรู้ลักษณะของสิ่งนั้น เพราะผ่านไป รวดเร็วทั้งวัน เมื่อกี้นี้ผ่านไปทั้งหมดเลย จิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผ่านไปหมด โดยไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กล่าวถึงเลย เพราะว่าไม่ใช่สติขั้นสติสัมปชัญญะ ที่เป็นสติปัฏฐาน ต่อเมื่อใดมีการรู้ลักษณะ ขณะนั้นสติ ถ้าจะแปลว่า “ตามรู้” คือ ไม่ได้ไปที่อื่น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติก็รู้ลักษณะนั้น อยู่ตรงลักษณะนั้น นั่นคือ ตามลักษณะที่ปรากฏ ไม่ได้ไปอื่น

        เพราะฉะนั้นต้องเข้าถึงว่า ขณะนี้มีผู้อบรมสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด เป็นปกติ จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นปกติ คือ ลักษณะนี้เป็นปกติอย่างนี้ ไม่มีใครไปเปลี่ยน ไม่มีตัวตนไปนึกที่ตามรู้ หรืออะไรทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่กำลังมีลักษณะนี้ แล้วก็รู้ตรงลักษณะนี้ แล้วกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือความหมายของ “ตามรู้”

        สุกัญญา อย่างนั้นขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ สติกับปรมัตถธรรมเป็นคนละขณะ ใช่ไหมคะ

        สุ. ขณะนี้เห็นอะไร

        สุกัญญา ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

        สุ. ขณะเห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วบอกว่าเห็น

        สุกัญญา ขณะเห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา

        สุ. เพราะฉะนั้นขณะที่สติรู้ ต้องมีสิ่งที่สติกำลังรู้ด้วย ปกติธรรมดา แต่ไม่ใช่จิตเห็น ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมปรากฏ ลักษณะไม่เปลี่ยนเลย กำลังมีลักษณะนี้แล้ว ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นด้วย กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งนี้ มีสิ่งนี้ให้ค่อยๆ เข้าใจ เห็นไหมคะว่า เราไม่ได้ไปเรื่องอื่นเลย ถ้าจะพูดถึงแข็ง แข็งปรากฏ หลงลืมสติก็คือธรรมดา แต่เวลาที่แข็งปรากฏ ลักษณะแข็งปรากฏ ขณะนั้นถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ว่า สติระลึก ลักษณะนั้นจึงปรากฏ ต่อจากกายวิญญาณที่รู้แข็ง แล้วปกติก็ผ่านไป แล้วแต่ว่าเป็นการรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือสิ่งที่ปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302


    หมายเลข 12252
    27 ม.ค. 2567