จักขุนทรีย์ มนินทรีย์ เวทนินทรีย์


        เด่นพงศ์ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ มันเป็นใหญ่ในตัวของมันเอง

        สุ. เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นสภาพที่สามารถกระทบกับอารมณ์เฉพาะทาง

        เด่นพงศ์ อย่างที่อาจารย์พูดชัดว่า จักขุได้ยินไม่ได้ พอมาถึงมนินทรีย์ ก็มีเวทนาเกิดขึ้น

        สุ. เดี๋ยวค่ะ มนินทรีย์ คือ จิต หายสงสัยไหมคะ

        เด่นพงศ์ ไม่หายครับ

        สุ. เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมีจักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย ถ้าไม่มีจิต พวกนี้จะเป็นใหญ่ได้ไหม ในเมื่อไม่มีรูปกระทบ ไม่ปรากฏจิตต่างๆ ที่จะเห็น ได้ยิน เหล่านั้น แต่เพราะจิตต้องอาศัยรูปต่างๆ เหล่านี้ จึงสามารถเห็น ได้ยิน จิตเป็นใหญ่อยู่แล้วในการรู้อารมณ์ แม้ไม่เห็น จิตรู้อารมณ์อะไรก็ตาม ขณะนั้นจิตก็เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังรู้

        เด่นพงศ์ แต่ตัวที่เรียกว่าเป็นอินทรีย์ เราเรียกว่า จักขุปสาท

        สุ. จักขุปสาทเป็นรูป ที่สามารถทำให้จิตเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น

        เด่นพงศ์ แต่จะเป็นใหญ่ได้ ถ้ามีมนินทรีย์เข้ามาด้วยอย่างนั้น หรือ

        สุ. ลักษณะของเขาก็เป็นใหญ่ แต่ขณะใดที่ไม่ได้มีกระทบ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าสภาพของรูปก็มีอายุที่สั้นมาก เกิดแล้วก็ดับแล้ว ไม่ได้ทำกิจการงานอะไร

        เด่นพงศ์ แสดงว่าจักขุปสาทเป็นอินทรีย์ตัวเองไม่ได้

        สุ. จักขุปสาทเป็นอื่นไม่ได้ เป็นจักขุปสาท แต่โดยสภาพที่เป็นจักขุปสาทนั้นเองเป็นลักษณะของอินทรีย์ประเภทหนึ่ง

        เด่นพงศ์ มันต้องประกอบกัน ถูกไหมครับ

        สุ. จักขุปสาทเป็นรูป ต่างกับรูปอื่น ซึ่งรูปอื่นก็เกิดดับ จักขุปสาทก็เกิดดับ แต่ว่าลักษณะของรูปอื่นไม่ได้เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นรูปอื่นก็เกิดดับ จักขุปสาทก็เกิดดับ แต่ว่าลักษณะของรูปอื่นไม่ได้เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นรูปที่เป็นใหญ่ ก็คือ จักขุปสาท โสตปสาท เป็นต้น

        เด่นพงศ์ ผมกำลังเข้าสู่ปัญหาที่อาจารย์สุรีย์ถามว่า เวทนามันเกิด ...

        สุ. เดี๋ยวก่อนค่ะ มนินทรีย์ยังสงสัยไหมคะ

        เด่นพงศ์ มนินทรีย์ คือ

        สุ. มนินทรีย์ คือ จิตทุกประเภท เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงเรื่องรูปที่เป็นอินทรีย์ ก็เป็นพูดถึงเรื่องรูปแต่ละรูปที่เป็นอินทรีย์ พอพูดถึงนามที่เป็นอินทรีย์ ก็กล่าวถึงนามแต่ละนาม เช่น จิตก็เป็นอินทรีย์ คือ เป็นมนินทรีย์ จิตจะไม่เป็นอินทรีย์ไม่ได้ เพราะเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์

        เด่นพงศ์ จะเรียกอีกอย่างว่า มโนวิญญาณ อย่างนั้นใช่ไหมครับ

        สุ. ทุกอย่างค่ะ จิตทุกประเภทเป็นอินทรีย์หมด เวลาที่กล่าวถึงจิต ก็โดยพยัญชนะ แล้วแต่จะใช้ สภาพคิด รู้แจ้งอารมณ์ แต่เวลาที่กล่าวถึงความเป็นใหญ่ ก็คือว่า ในขณะนั้นเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ

        เด่นพงศ์ คือผมกำลังจะอธิบายต่อ ด้วยความเข้าใจของตัวเองว่า สมมติเราได้ยิน เวลาที่เรารู้สึกมีเวทนาขึ้น อยู่ที่มนินทรีย์

        สุ. จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เจตสิกเกิดขึ้น ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แล้วแต่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทไหน ลักษณะของเวทนาทุกประเภทเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่

        เด่นพงศ์ มันโยงกันไปหมด เลยงง

        สุ. ทีนี้เราก็พูดถึงแต่ละอินทรีย์ ทีละอินทรีย์ เวลาพูดถึงอินทรีย์ ก็พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ ที่เป็นรูปก็มี ที่เป็นนามธรรมก็มี รูปอะไรบ้างที่เป็นอินทรีย์ และนามอะไรบ้างที่เป็นอินทรีย์

        เด่นพงศ์ อย่างเสียงดังมาก เราก็มีทุกขเวทนา

        สุ. เสียงดังมาก ขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง ถูกต้องไหมคะ เวทนาอะไรเกิดกับโสตวิญญาณ นี่คือความรวดเร็วที่จะต้องแยกสภาพธรรมว่า เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเพราะความไม่รู้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ถ้าเป็นความรู้ ต้องเป็นความรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น ในขณะที่เสียงปรากฏ จิตอะไรได้ยินคะ จิตได้ยินเกิดขึ้น เวทนาอะไรเกิดกับจิตได้ยิน เสียงจะดัง เสียงจะเบาแค่ไหนอย่างไรก็ตาม เวทนาที่เกิดร่วมกับโสตวิญญาณเปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่อย่างนั้นก็ไม่เป็น ปรมัตถธรรม

        เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า เวทนาอะไรเกิดร่วมกับโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงเบา เสียงดัง เสียงลั่นสนั่นก็แล้วแต่

        เด่นพงศ์ คุณสุรีย์ช่วยตอบด้วย มันอุเบกขา หรืออย่างไร เสียงเบา ผมก็ชอบ

        สุ. และเสียงดังก็ต้องเป็นอุเบกขาค่ะ จิตได้ยินจะเกิดร่วมกับเวทนาอื่นไม่ได้เลย นอกจากอุเบกขาเวทนา นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้ เราอาจจะคิดเอง อาจจะสับสน แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า นอกจากกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยอาศัยกายปสาท เวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณต้องเป็นทุกข์ หรือสุขอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จะเป็นอุเบกขาไม่ได้ และสำหรับทวารอื่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส จะเป็นเวทนาอื่นไม่ได้ นอกจากอุเบกขาเวทนา เราจะคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร นั่นเป็นเพราะความรวดเร็วของจิต ซึ่งเกิดดับจนเหมือนกับว่า ไม่ได้ขาดไปเลย หมดไปเลย

        เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ทาง ๕ ทวาร เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เป็นอุเบกขาเวทนา ที่เกิดกับกายวิญญาณ ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา อุเบกขาเวทนาจะเกิดกับกายวิญญาณไม่ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290


    หมายเลข 12191
    27 ม.ค. 2567