อยู่ในโลกของนิมิตและมายา


        อ.วิชัย ผมลองอ่านหลายสูตรที่ทรงแสดงเรื่องอริยสัจธรรม เช่น ทรงแสดงเรื่องเวทนา ๓ อะไรเป็นเหตุให้เกิดเวทนา อะไรเป็นความดับเวทนา อะไรเป็นหนทางให้ดับเวทนานั้น ซึ่งก็ทรงแสดงให้เห็นว่า นี่ทุกข์ นี่ทุกขสมุทัย นี่ทุกขนิโรธ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อศึกษาเมื่อฟัง เช่น เมื่อศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คล้ายๆ กับทรงแสดงให้เห็นเหตุด้วย ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือเปล่าครับ

        สุ. แน่นอนค่ะ ถ้าไม่มีจักขุปสาท ของธรรมดาๆ แต่ไม่ได้คิดเลยว่า ขณะนี้เพียงจักขุปสาทรูปไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ปรากฏไม่ได้เลย นี่คือเหตุ แต่ไม่ใช่ขั้นคิด ขั้นคิดนี่คิดยาวไปจนกระทั่งถึงเกิดดับ แล้วกิจการงานอะไรๆ ได้ทุกอย่าง ปัจจัยต่างๆ ก็คิดได้ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นธรรม เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ลักษณะ แต่คิดเรื่องของสิ่งนั้น เพราะจริงๆ ขณะนี้ถ้าเอาเรื่องออกหมด มีเฉพาะลักษณะเท่านั้นจริงๆ ที่ปรากฏแต่ละทาง อย่างเสียงก็ปรากฏเท่านั้นถ้าไม่คิด ถ้าไม่คิดเลยจะปรากฏแต่เฉพาะลักษณะแต่ละลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่เพราะเหตุว่ายับยั้งการคิดไม่ได้เลย คิดโดยไม่รู้ตัว อย่างขณะเห็นเป็นคนก็คิดแล้ว เร็วแค่ไหนคะ คิดถึงรูปร่างสัณฐานจำได้เลยทันที ไม่ต้องรอเวลาเลย ได้ยินเสียง รู้ความหมายทันที ไม่ต้องไปนั่งคิด เหมือนคนที่เพิ่งเรียนภาษาหนึ่งภาษาใด และจะค่อยๆ จำว่า เสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร

        นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของความคิด ทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก เหมือนอยู่ในโลกของความไม่จริง เพราะสิ่งที่ปรากฏเกิดแล้วดับแล้ว ไปเรื่อยๆ ทุกขณะ

        เพราะฉะนั้นก็จะอยู่ในโลกของนิมิต และมายา เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ได้เลยว่า ชั่วขณะนิดหนึ่งที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏในกระแส เหมือนกับห้วงน้ำซึ่งเกิดดับไม่หยุดยั้ง จะมีการรู้ลักษณะหนึ่งขณะนั้น ที่จะเริ่มให้รู้ว่า ลักษณะนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่แม้สติปัฏฐานไม่เกิด ก็เกิดดับไปแล้วอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่คำนึงถึง หรือไม่รู้ หรือไม่ใส่ใจ ไม่เข้าใจในลักษณะนั้น แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด เริ่มมีการรู้ลักษณะ ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ชีวิตเป็นอย่างนั้น นามธรรมรูปธรรมก็เกิดดับไปเร็วอย่างนั้น เมื่อกี้นี้ก็หมดไป ไม่รู้ว่านามธรรมเท่าไร รูปธรรมเท่าไร แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็ชั่วขณะที่มีการรู้ลักษณะของสิ่งนั้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270


    หมายเลข 12061
    23 ม.ค. 2567