รู้ทั่วในสภาพธรรมที่ปรากฏ


        อ.กุลวิไล สำหรับการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมนั่นเอง และมีปัจจัยให้พิจารณาไตร่ตรองในสภาพธรรมที่มีจริง แม้แต่คำว่า “ทุกข์” ที่เราได้สนทนากันมา เพราะว่าถ้าไม่รู้ว่า ทุกข์คืออะไรแล้ว ก็ย่อมเข้าใจทุกข์นั้นผิด เพราะส่วนใหญ่เราจะไปคิดว่า ทุกข์นั้นคือทุกข์กาย ทุกข์ใจ เพราะทุกท่านคงไม่ชอบแน่นอนสำหรับทุกข์กาย และขณะเดียวกัน ทุกข์ใจก็ตามมาด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าเราได้ศึกษาพระอภิธรรม ที่เราได้ศึกษากันในช่วงของพื้นฐานพระอภิธรรม ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้มีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน

        เพราะว่าพูดถึงทุกข์ ก็ไม่พ้นทุกข์กาย ทุกข์ใจ ที่เราเข้าใจมาก่อน ซึ่งท่านกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นทุกขสัจ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ เพราะว่ามีในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่สภาพธรรม รูปทั้ง ๒๘ รูป มีจริง แต่รูปในชีวิตประจำวัน ๗ รูป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีในชีวิตประจำวัน แต่รู้ไหมว่า นี่คือรูปธรรมที่มีในชีวิตประจำวันนั่นเอง และเป็นทุกข์ด้วย เพราะว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง

        เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นรูป มีจริง และรูปก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย ลองกระทบสัมผัสที่กายเรา หรือว่าที่ภายนอก ที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนมากมาย แต่ลักษณะอะไรปรากฏเมื่อกระทบสัมผัส ท่านแสดงไว้ว่า รูปที่รู้ได้ทางกาย มี ๓ รูปด้วย คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ลักษณะของธาตุดินเป็นอย่างไร ก็ไม่พ้นอ่อนหรือแข็งนั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็มีจริง เพราะฉะนั้นการศึกษาปรมัตถธรรม พระอภิธรรม ก็ต้องมีการไตร่ตรองพิจารณาในสภาพธรรมที่ทรงแสดงด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง และทั้งหมดก็คือในขณะนี้เอง แต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นถูก รู้ทั่วในสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งก็ไม่พ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270


    หมายเลข 12070
    23 ม.ค. 2567