เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฎ ต้องมีสภาพรู้


        ผู้ฟัง ถ้าจะใช้คำว่า จิตคิดถึง จะได้ไหมครับ

        สุ. จะใช้คำ หรือว่าคิดมีจริงๆ และคิดไม่ใช่รูป เพราะเหตุว่ารูปไม่สามารถจะคิดได้ ไม่ลืมว่า มีเรา ฟังจนกว่าจะเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร

        เพราะฉะนั้นจิตมีแน่นอน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธาตุที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ และสิ่งที่จิตกำลังรู้ต้องมี เพราะจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง เห็นมี เป็นสภาพธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นเป็นสภาพของจิต ไม่ใช่รูปธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่เป็นวง หรือเป็นอะไร แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาเสียงปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นปรากฏไม่ได้ แต่เราไปคิดถึงเฉพาะเสียง ลืมว่า ขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังได้ยิน หรือรู้เสียงนั้น

        เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งไม่มีจิต อะไรที่ปรากฏเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้นทั้งหมด

        ผู้ฟัง ก็คือให้เข้าใจว่าเป็นสภาพรู้

        สุ. ค่ะ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ไปติดที่คำ หรือไม่ใช่ติดที่เรื่อง แต่ต้องรู้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ ใช้คำว่า “ธาตุ” ธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ

        ถ้าเข้าใจโดยตรงอย่างนี้ ก็จะไม่มีข้อสงสัยเลย จะใช้คำว่า ดวง จะใช้คำว่าขณะ จะใช้คำว่า ประเภท จะใช้คำว่าอะไรก็ตาม ก็รู้ว่า จิตเป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรม เกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับไป ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลยด้วย จิตที่เกิดใหม่ก็ตามเหตุตามปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น ถ้าเข้าใจสภาพรู้ว่า ต่างกับรูปธรรม จะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ต้องเข้าใจถูกจริงๆ เช่นในขณะที่เห็น เป็นธาตุที่สามารถกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

        นี่คือความหมายของรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ เสียงปรากฏ ธาตุรู้ได้ยิน รู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่น สภาพที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของเสียงแต่ละเสียงที่ต่างๆ กันไป สภาพธรรมนั้นก็เป็นจิต จะใช้คำว่า ดวง จะใช้คำว่า ขณะ จะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า หมายความถึงสิ่งที่เรากล่าวแล้วทีละหนึ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็หมดไป ถ้าเป็น ๒ จะใช้คำว่า จิต ๒ ขณะ จิต ๒ ดวง จิต ๒ ประเภท แล้วแต่ว่าขณะนั้นกำลังกล่าวถึงอะไร ถ้ากล่าวถึงโลภมูลจิตมีกี่ประเภท จะใช้คำว่ากี่ดวงก็ได้ แต่ต้องไม่เข้าใจผิดว่า แม้ว่าจะเกิดความติดข้องเมื่อไร ขณะไหนก็ตาม เช้า สาย บ่าย ค่ำ ชาติหน้า ชาติก่อน ก็คือสภาพที่กำลังติดข้อง และสภาพที่ติดต้องนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า ถ้ามี เพราะเหตุว่ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย จึงเป็นโลภมูลจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้ดับความเห็นผิดแล้วก็ตาม แต่โลภะยังมีได้

        นี่คือการจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง

        นี่ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะไปคิดอย่างไร ทำอะไรก็ได้ แต่ไม่สามารถกั้นความเข้าใจถูก ความเข้าเห็นถูกจากการพิจารณาเข้าใจอรรถของโวหารนั้นๆ ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271


    หมายเลข 12071
    23 ม.ค. 2567