โสภณ - อโสภณ


        ผู้ฟัง คือโสภณธรรมเป็นนามธรรมที่ดี หมายถึงเฉพาะจิต และเจตสิกเท่านั้น

        สุ. เพราะอะไรถึงหมายถึงจิต และเจตสิกเท่านั้น มีเหตุผลอะไรที่กล่าวว่าอย่างนี้

        ผู้ฟัง เพราะมีโสภณเหตุ ใช่ไหมคะ

        สุ. เพราะรูปไม่สามารถรู้อะไรได้เลย รูปจะเกิดเป็นอกุศลได้ไหม รูปจะเมตตาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เจตสิกจะเกิดกับจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เหมือนกัน และเกิดพร้อมกันด้วย เพราะรู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน ส่วนรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นรูปจะดี เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลไม่ได้

        ผู้ฟัง แล้วเราจะเรียกว่า รูปเป็นอโสภณธรรมได้ไหม หรือไม่ได้

        สุ. คือ จะเรียกอะไร เพื่ออะไรคะ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง หรืออยากจะเรียกให้หายสงสัย หรืออย่างไรคะว่าได้หรือไม่ได้ จะใช้คำไหน ก็ต้องเข้าใจคำนั้นด้วย ไม่ใช่ไปจำว่า รูปเป็นอโสภณธรรม แต่ทำไมเป็น

        ผู้ฟัง ทำไมจึงเป็นอโสภณธรรม เพราะไม่มีจิตเจตสิก

        สุ. เพราะไม่ใช่สภาพรู้ รูปโกรธไม่ได้ รูปทำกุศลไม่ได้ รูปไม่รู้อะไรเลย แล้วจะกล่าวว่า รูปเป็นกุศล อกุศลได้อย่างไร

        ผู้ฟัง แล้วอย่างนิพพาน ไม่ใช่จิตเจตสิก

        สุ. ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป

        ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่โสภณธรรม

        สุ. ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิด

        ผู้ฟัง เขาบอกว่า โสภณธรรม คือ ๑. โสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท ๒. โสภณจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

        สุ. อันนี้จำ หรือว่าเข้าใจว่า ธรรมที่ดี ได้แก่ โสภณเจตสิก เพราะว่าเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิต เจตสิกที่ดีก็มี เจตสิกที่ไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้นขณะใดที่เจตสิกฝ่ายดี เช่น สติ ศรัทธา อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เกิดกับจิตขณะไหน จะให้จิตขณะนั้นไม่ดีได้ไหม ในเมื่อสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี

        เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจิตก็เป็นสภาพที่ดี เป็นโสภณด้วย เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

        ผู้ฟัง แต่ในโสภณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อย่างน้อยต้องมีอโลภะ อโทสะ ใช่ไหมคะ

        สุ. แน่นอนค่ะ และต้องมีศรัทธาด้วย โสภณสาธารณะทั้งหมด ๑๙ ประเภท ขาดไม่ได้เลยสักหนึ่ง

        ผู้ฟัง อันนี้บอกว่า โสภณจิต มี กุศลจิต มหาวิบากจิต มหากิริยาจิต เวลาหนูจด หนูก็คิดไป กุศลจิต ก็เช่น ชวนจิตของปุถุชนที่เป็นกุศล อย่างนี้ใช่ไหมคะ

        สุ. ค่ะ จะเป็นชื่อ และเป็นการจำ แต่ขอถามถึงความเข้าใจ ชวนจิตคืออะไร

        ผู้ฟัง เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

        สุ. กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต วิบากจิต ต่างกันอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจอย่างมั่นคงค่ะ

        ผู้ฟัง แล้วอย่างมหากิริยาจิตนี่คือ ชวนจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่เป็นทั้งกุศล และอกุศล

        สุ. เวลาที่กล่าวว่า มหากิริยาจิต เป็นชวนจิตของพระอรหันต์ ถ้าจะกล่าวว่า เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ได้ไหม

        ผู้ฟัง จะดีกว่า

        สุ. ไม่ใช่จะดีกว่าค่ะ เพียงแต่ว่า ได้ไหม เพื่อที่จะดูความเข้าใจ

        ผู้ฟัง ได้ค่ะ แต่มหาวิบากจิตนึกไม่ออกเลยค่ะ

        สุ. วิบากจิตคืออะไร

        ผู้ฟัง จิตที่เป็นผลของกรรม

        สุ. ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย วิบากจิตจะเกิดได้ไหมคะ

        ผู้ฟัง ไม่ได้

        สุ. เพราะฉะนั้นขณะใดที่วิบากจิตเกิด หมายความว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้วิบากประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเท่าที่ถามว่า ไม่เข้าใจมหาวิบากจิต

        ผู้ฟัง คือเป็นคำใหม่ ไม่เคยได้ยิน

        สุ. แต่ได้ยินคำว่า วิบากแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ทราบได้ว่า ถ้าอกุศลกรรมให้ผล ทำให้เกิดอะไรคะ

        ผู้ฟัง อกุศลวิบาก

        สุ. ถูกต้องค่ะ และถ้ากุศลกรรมให้ผล

        ผู้ฟัง ก็เป็นกุศลวิบาก

        สุ. ค่ะ กุศลวิบาก

        ผู้ฟัง อโสภณจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเจตสิกอื่นๆ ที่ไม่ใช่โสภณเจตสิก มีทั้งหมด ๓๐ ประเภท ก็มีอเหตุกจิต ๑๘ อกุศลจิต ๑๒ ทีนี้เวลาที่ได้ยินอเหตุกจิต หนูก็จะนึกว่าคืออะไร สิ่งเดียวที่จำได้ ก็คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

        สุ. และความหมายของอเหตุกะ คืออะไรคะ

        ผู้ฟัง คือไม่มีเหตุทั้ง ๖ เกิดร่วมด้วย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264


    หมายเลข 12022
    23 ม.ค. 2567