กุศลวิบาก-อกุศลวิบาก


        สุ. ด้วยเหตุนี้จิตทุกขณะ นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ในพระอรหันต์ มี หรือเป็นอนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าทันทีที่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด อนันตร หมายความว่า ไม่มีระหว่างคั่นเลย ขณะนี้เป็นอย่างนั้น จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด และเป็นสมันตรปัจจัยด้วย คือ ใครจะไปให้จิตขณะอื่นมาเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้เลย จะให้จิตเห็นเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้ จะให้กุศลจิตเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้ ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่กระทบทวาร ๕ และถ้าไม่ใช่ทางทวาร ๕ วิถีจิตขณะแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต เปลี่ยนจากทางปัญจทวาร เป็นมโนทวาร ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต

        เคยคิดใช่ไหมคะ เห็นไหมว่าไม่เคยเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน ก่อนคิดต้องเป็นภวังค์ และภวังค์เป็นวิถีจิตหรือเปล่า ไม่ใช่วิถีจิต จิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เป็นวิถีจิต ขณะนั้นประกอบด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเปล่า

        ผู้ถาม ไม่ประกอบ

        สุ. เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกจิต

        เมื่อกี้นี้มี ๑๐ ดวง ตอนนี้เพิ่มอีก ๒ เป็น ๑๒

        ผู้ถาม เพิ่มอีก ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต

        สุ. ถูกต้องค่ะ คือ นึกถึงวิถีจิตแรก ต้องเข้าใจว่า ต้องมีวิถีจิตแรก และวิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิต เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้ และจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไม่ได้ด้วย จึงเป็นอเหตุกจิต ตอนนี้พอจะนึกออกแล้ว อเหตุกจิตมี ๑๐ แล้ว แล้วก็มีอีก ๒ เป็น ๑๒

        เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิตทางตาดับไป อะไรเกิดต่อ ขณะนี้กำลังรู้ว่ามีภวังค์เกิดก่อนจิตเห็น เมื่อกระแสภวังค์ขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉทะดับ ต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิต รำพึงถึงอารมณ์ และเป็นอเหตุกะด้วย ไม่ประกอบด้วยเหตุหนึ่งทางใดทั้ง ๖ เลย แล้วก็เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต เมื่อจิตนี้ดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

        ผู้ถาม ทวิปัญจวิญญาณ

        สุ. จักขุวิญญาณ ถ้าเป็นทางตา ๑ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม มีใครทำให้จิตนี้เกิดได้ไหมคะ กรรมเท่านั้นที่เป็นปัจจัย พร้อมเมื่อไรที่จะให้ผลทางตา ยับยั้งไม่ได้เลย จะไม่ให้เห็นไม่ได้ เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิดต่อจากจักขุทวาราวัชชนจิต

        เพราะฉะนั้นจิตเห็น เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต

        ผู้ถาม วิบากจิต

        สุ. ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เป็นวิบากจิตประเภทไหนคะ

        ผู้ถาม กุศลวิบากจักขุวิญญาณ

        สุ. ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม

        ผู้ถาม ก็เป็นอกุศวิบากจักขุวิญญาณ

        สุ. เชื่อมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรมหรือยัง ใครก็บันดาลไม่ได้ ทำไม่ได้ วันไหน ขณะไหน จะเกิดเมื่อไร เมื่อเกิดแล้วจึงรู้ว่า ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว โดย อนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัย ที่ว่า เมื่อจักขุทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จะให้โสตวิญญาณเกิดได้ไหม

        ผู้ถาม ไม่ได้

        สุ. จักขุทวาราวัชชนจิตดับ จะให้โสตวิญญาณเกิดได้ไหม

        ผู้ถาม ไม่ได้

        สุ. จะให้ฆานวิญญาณเกิดได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้นนอกจากอนันตรปัจจัย ก็ยังเป็นสมันตรปัจจัยด้วยว่า ต้องตามลำดับของธรรม ใครจะไปทำให้สับสน จะทำให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

        ค่อยเห็นความเป็นอนัตตาขึ้นไหมคะว่า การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้มีความมั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา เมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว จิตอื่นไม่เกิดได้ไหม เว้นว่าง เว้นวรรค ไม่เกิดได้ไหม

        ผู้ถาม ไม่ได้

        สุ. ใครจะไปบันดาลให้ไม่เกิดก็ไม่ได้ ตามปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัย

        เพราะฉะนั้นอนันตรปัจจัย คือ ต้องมีจิตเกิดต่อ แน่นอน แต่จิตประเภทไหนเพราะสมันตรปัจจัยว่า เมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

        ผู้ถาม สัมปฏิจฉันนะ

        สุ. ค่ะ ถ้าเข้าใจคำแปล ก็จะเข้าใจโดยไม่ลืม สัมปฏิจฉันนะ คือ จิตที่ทำกิจรับด้วยดี รับรู้ต่อจากวิญญาณจิตที่ดับไปแล้ว ถ้าไม่รับไว้ จะสามารถรู้ ชอบ รัก ชังในสิ่งที่ปรากฏได้ไหมคะ หมดแล้วหมดไปเลย นี่ยังมีการรู้อารมณ์นั้นสืบต่อ อารมณ์เดียว ทวารเดียวกันด้วย เพราะว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะจิต ยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะที่เพียงรับรู้ต่อ มีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม

        ผู้ถาม ไม่มี

        สุ. เพราะฉะนั้นจำไว้ได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่กุศล อกุศล และโสภณวิบาก เวลาที่จิตเห็นดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด เพราะฉะนั้นจิตนี้เป็นจิตประเภทไหน

        ผู้ถาม เป็นอเหตุกจิต

        สุ. เป็นอเหตุกจิต จิตนี้มีกี่ประเภท ถ้ามีกรรม ๒ อย่าง คือ อกุศลกรรม และกุศลกรรม จิตนี้กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดทันทีที่ทวิปัญจวิญญาณ หรือจิตเห็นดับไปแล้ว กรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นร่วมรับรู้รูปนั้นต่อ แต่ทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือ รับรู้อารมณ์นั้นต่อ ก็ต้องมี ๒ ประเภท คือ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ เป็นอเหตุกะทั้ง ๒

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265


    หมายเลข 12025
    23 ม.ค. 2567