ฟังว่าเป็นธรรม แล้วก็ลืมเป็นตัวเรา


        ผู้ฟัง การศึกษาธรรม ถ้าไม่รู้ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม รู้แต่เพียงเรื่องราว และชื่อธรรม ไม่ใช่เป็นการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นในขณะที่จะกล่าวว่า เป็นการศึกษาธรรมนั้น จะต้องรู้ และเข้าใจลักษณะของธรรม มากน้อยเพียงใดครับ ท่านอาจารย์

        สุ. ถ้าเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม การศึกษาธรรม ก็คือว่า ก่อนที่จะได้ฟัง แม้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นชีวิตประจำวัน ก็ไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เลย นี่คือก่อนศึกษาธรรม เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม

        เวลาที่ฟังแล้ว ก็รู้ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่อยู่ในหนังสือเลยค่ะ แต่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา โดยประการทั้งปวง ที่ทำให้เราเข้าใจถูก เพื่อจะได้รู้ลักษณะของธรรม ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เพียงชื่อ จะไม่ทำให้เราเข้าใจธรรมได้เลย เพราะฉะนั้นจะชื่อว่า ศึกษาธรรมหรือเปล่า ถ้าเป็นการจำชื่อ เช่นในขณะนี้ ฟัง เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นธรรม

        นี่คือขั้นฟัง และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า หรือขณะนี้มีแล้วไม่เคยเข้าใจ การฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จึงจะเป็นการศึกษาธรรม มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเพียงการจำชื่อ และก็หมดไป แต่ละภพแต่ละชาติ เป็นโมฆะ เพราะว่าชาตินี้เราคิดภาษาอะไร ชาติหน้าเราไม่คิดภาษานี้อีกก็ได้ ในเมื่อเราไม่ได้เกิดใช้ภาษานี้ในชาติหน้า

        เพราะฉะนั้นที่เราจำไว้ทั้งหมดเป็นคำ ก็หายไปหมด แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม รู้ว่า การศึกษาธรรมจริงๆ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรม คือ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ศึกษาเพราะเพียงอยากรู้ หรืออยากจำชื่อ แต่ต้องรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ศึกษาเพื่อรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้น

        ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันก็จะต้องรู้จักตัวเองดีพอสมควรว่า ต่างก็สะสมมาไม่เหมือนกัน ตรงนี้ท่านอาจารย์จะช่วยแนะนำอย่างไรบ้างครับ

        สุ. คนที่ไม่มีปัญญา จากไม่มีปัญญา จะแนะนำให้ทำอะไร หรือว่าจะแนะนำอย่างไร

        ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์เคยแนะนำ ก็คือ ให้ฟัง

        สุ. ค่ะ และการฟังต้องละเอียด ฟังสิ่งใดให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังจริงๆ อย่าผ่าน อย่างที่ท่านผู้ถามเมื่อกี้นี้ ท่านก็ฟังมาหลายครั้ง และท่านก็รู้ด้วยว่า ท่านยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงถาม เพื่อจะได้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง เช่น เรื่องวิบากจิต กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการฟังเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นจากการไม่รู้ แล้วก็เป็นค่อยๆ รู้ จนกว่าจะรู้ ทำอย่างไร ไม่มีตัวตนที่จะไปเร่งรัดอะไรได้ นอกจากเป็นความเข้าใจที่มาจากการฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณา แล้วก็เป็นความเข้าใจละเอียดขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย

        ผู้ฟัง กระผมว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะต้องเข้าใจว่า ขณะนั้นลักษณะของธรรมที่ปรากฏมีลักษณะอย่างไร และพอจะรู้ละเอียดได้มากน้อยเพียงใด

        สุ. อันนี้เป็นเรื่องคิดมากหรือเปล่าคะ

        ผู้ฟัง ยอมรับว่า คิดมากด้วยครับ

        สุ. ฟังธรรม เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจแล้วนะคะ ขณะต่อไปก็ไม่ได้ฟังธรรม ก็ไม่ได้นึกถึงธรรมที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ฟังอีก ในขณะที่ได้ฟังเรื่องซ้ำๆ เรื่องเก่า แต่การฟังครั้งหลังๆ ก็ทำให้เข้าใจขึ้นๆ และเวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็เป็นเวลาที่ใช้ชีวิตตามความเป็นจริง ตามที่สะสมมา

        เพราะฉะนั้นธรรมไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่นเลย ฟังเข้าใจแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจ เป็นอวิชชา ก็เป็นความจริง แล้วจะไปคิดมากเรื่องอะไร

        ผู้ฟัง กระผมอาจจะฟังมาก และฟุ้งซ่านมากครับ เพราะว่าในขณะใดที่รู้ตัวเองว่า ไม่ใส่ใจหรือสนใจในลักษณะของสภาพธรรม ...

        สุ. ก็กลายเป็นตัวเราเรื่อยๆ สนใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าฟังธรรมเป็นธรรม ก็จบ แล้วก็ฟังอีก เข้าใจอีก ก็จบ ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย เพราะรู้ว่าเป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม ก็เป็นของธรรมดา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น

        ผู้ฟัง บางคราวก็เหมือนกับรู้สึกว่า ชาตินี้จะเสียชาติเกิดเสียละมั่ง

        สุ. ก็คือตัวเรา ไม่ใช่เป็นธรรม ฟังไปว่าเป็นธรรม แล้วก็ลืมเป็นตัวเรา แล้วก็เป็นตัวเราอย่างมากๆ ด้วย ถ้าเพิ่มความเข้าใจธรรมขึ้น ความเป็นตัวเราก็ลดน้อยลง

        ผู้ฟัง ขนาดที่ธรรมเกิดให้รู้ต่อหน้าต่อตา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ

        สุ. คนอื่นเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือเป็นเฉพาะคุณประทีปคนเดียว

        ผู้ฟัง กระผมกำลังจะเรียนถามท่านอาจารย์ และหาเพื่อนๆ สหายธรรมด้วย

        สุ. ถ้าไม่มีเพื่อน เป็นอย่างไรคะ หรือต้องมีเพื่อน ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ทำไมจะต้องไปคิดถึงคนอื่น นี่ก็คิดอีกแล้ว มีความเป็นเรา และมีความหาเพื่อนอีก

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องเข้าใจว่า เพื่อเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อไปหาเพื่อนว่าเหมือนกับเราไหม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266


    หมายเลข 12030
    23 ม.ค. 2567