ฟังเพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะสละความเป็นเรา


        ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เราคิดนึก มีลักษณะอย่างไร ขออาจารย์โปรดเกื้อกูลด้วยค่ะ

        สุ. มีทุกอย่าง เป็นจิตทั้งนั้นเลย เห็นก็เป็นจิต ได้ยินก็เป็นจิต คิดนึกก็เป็นจิต ทุกอย่างมีก็ช่างรู้ยาก ฟังเท่าไรๆ ก็ยังรู้ยาก เพราะว่าการเพียงฟัง ไม่สามารถทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า ลักษณะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน มี แล้วเป็นธรรมอะไรบ้าง

        นี่ขั้นฟัง แต่กว่าจะรู้ แม้แต่เรื่องจิต บอกง่ายๆ ก็ได้ ลักษณะของคิด ก็คือกำลังคิด แล้วก็เป็นจิตที่คิด รูปคิดไม่ได้ บอกไปเถอะ กี่คำ กี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของจิต

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่แม้มีจริง ปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยอวิชชา ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่เป็นไปตามลำดับขั้นด้วย

        เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะเห็นได้ พูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ก็ยังไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของทั้งจิต เจตสิก รูป เพราะว่ามีอวิชชามาก จากการที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้มี ในแสนโกฏิกัปก็เป็นอย่างนี้ แต่อวิชชาก็ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้มาโดยตลอด

        เพราะฉะนั้นจะให้เป็นปัญญาที่จะรู้ได้ทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเทียบตามความเป็นจริงว่า เคยไม่รู้มานานแสนนาน เหมือนกับสิ่งที่สกปรกมาก ดำสนิท แล้วจะเอาอะไรไปขัด ไปชำระล้างจนกว่าสิ่งสกปรกนั้นจะออกไปได้ ถ้าเป็นวัตถุ ไม่ยากเลย แต่ถ้าเป็นปัญญา ไม่ใช่อวิชชา เราก็จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ฟัง ก็ยังต้องพิจารณาไตร่ตรอง มิฉะนั้นเพียงแค่ฟังก็เผิน แล้วก็ไม่เข้าใจ เช่น ขณะนี้คิดมีไหม แค่นี้ก่อน คิดมี แล้วคิดที่มีจริงๆ นั้น เป็นอะไร เป็นเราคิด หรือว่าเป็นธรรมที่กำลังมีคำที่คิดเป็นอารมณ์ ถ้ากำลังคิดคำ ก็จะเป็นแต่ละคำ ซึ่งจิตคิดแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก ทั้งวันที่เราคิด

        ตามที่ได้เคยกล่าวแล้ว เราคิดมากกว่าพูด เพราะฉะนั้นที่เราพูด หรือกำลังพูด จะต้องน้อยกว่าที่คิดในวันหนึ่งๆ แต่ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดเป็นคำ ก็คิดทีละคำได้ จะคิด ๒ คำ พร้อมกันไม่ได้

        เพราะฉะนั้นจะเห็นความรวดเร็วว่า ทำไม แม้สภาพธรรมก็มี แล้วไม่รู้สักทีหนึ่ง ฟังเท่าไรก็ไม่รู้สักทีหนึ่ง เพียงแต่เข้าใจว่าเป็นจิต เรียกชื่อได้ แต่ลักษณะของจิตขณะนี้คืออะไร กำลังเห็น ตอบว่าเป็นจิต ถ้าถาม สบายไหม โสมนัส ดีใจไหม มีจริงๆ ก็ตอบได้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพียงตอบได้ จนกว่าจะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมด้วยสติสัมปชัญญะ

        เพราะฉะนั้นแม้ในการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจระดับขั้นของปัญญาที่ต่างกันว่า ระดับของขั้นฟัง แม้กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่กำลังรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นการฟังจึงต่างกันที่ว่า เมื่อฟังแล้วเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “หลงลืมสติ” กับ “สติเกิด”

        เพราะฉะนั้นทุกคนก็ตอบได้ หลงลืมสติ ไม่ใช่ขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะที่สติกำลังเริ่มที่จะรู้ ยังไม่ไปที่อื่นเลย ไม่ได้ไปที่เรื่องราวต่างๆ แต่ว่ากำลังมีลักษณะให้รู้เฉพาะลักษณะนั้น เมื่อไร เมื่อนั้นก็เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะนั้นที่ปรากฏ ไม่ใช่การที่เราไปทรงจำรูปร่างสัณฐานว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ ตลอดชีวิต

        เพราะฉะนั้นกว่าจะสะสางความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม ซึ่งไม่รู้ และยึดถือมานานแสนนาน เป็นความค่อยๆ รู้ขึ้นในขั้นนี้ ต้องรู้ขั้นที่เป็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับสติปัฏฐานเกิด มิฉะนั้นกล่าวถึงจิตสักเท่าไร ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของจิต เพียงแต่กำลังจำเรื่องราว และความหมายว่า จิตมี และจิตไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น จิตเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น กำลังเห็น คนตายมีแต่รูป ไม่มีเห็น ไม่มีคิด แต่คนที่ยังไม่ตาย เห็นมี เพราะฉะนั้นเห็นก็คือจิตประเภทหนึ่ง และคิดนึกก็ไม่ได้เห็น แต่คิด เพราะฉะนั้นคิดก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ฟังเรื่องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะมีความรู้เพียงขั้นฟัง จนกว่าจะเข้าใจขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ก็เริ่มจะรู้ว่า การศึกษาธรรมจากการฟังเรื่องราว ก็จะนำไปสู่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้ายังไม่นำไปสู่ ก็หมายความว่า ขั้นเรื่องราวก็สะสมไป ประโยชน์ก็คือว่า ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาเพราะฟังละเอียด เข้าใจลักษณะ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด สามารถสละความเป็นเรา เพราะว่าเคยฟังมามากเรื่องความเป็นอนัตตา เรื่องความไม่เที่ยง เรื่องความเกิดดับของสภาพธรรม เรื่องจิตประเภทต่างๆ ที่มีทั้งอเหตุกะ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย ฟังเพื่อให้เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สามารถเข้าใจถูก เห็นถูก จนถึงสามารถที่สละความเป็นเราได้ มิฉะนั้นก็จะไม่เห็นประโยชน์ของการฟัง แต่ฟังแล้วเข้าใจ แม้ว่าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ยังไม่รู้ลักษณะ แต่สะสมความรู้อันนี้ เพื่อที่จะสามารถเห็นความเป็นอนัตตา เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด

        เพราะฉะนั้นต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266


    หมายเลข 12032
    23 ม.ค. 2567