อาจหาญ ร่าเริง ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม


        ผู้ฟัง บังเอิญเมื่อกี้ท่านอาจารย์พูดเรื่องผู้จัดการ ท่านอาจารย์คะ หนูเป็นผู้จัดการอยู่ แล้วมันเหนื่อย

        สุ. จัดการกันทุกคน แล้วแต่ใครจะรู้สึกว่า กำลังจัดการหรือเปล่า

        ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ตรงๆ ว่า เหมือนจะพูดว่า ขอวิธีการที่เกื้อกูลแล้วอยากจะคลายตรงนี้ลง สักนิดหนึ่งก็ยังดี

        สุ. ขอสิ่งที่ให้ไม่ได้เลยค่ะ

        ผู้ฟัง ขอความเข้าใจค่ะ

        สุ. นี่ซิคะถึงจะถูกต้อง ขอเข้าใจ ไม่ใช่ขอวิธีการ วิธีการน่ะ ไม่มีค่ะ วิธีการ คือ ให้หลง ถ้าจะให้วิธีการ คือ ให้หลง ไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง

        เพราะฉะนั้นแม้แต่สิ่งที่ฟังอยู่ มีจริงๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ พิจารณา ขณะที่กำลังพิจารณา เป็นเราหรือเปล่า ไม่ต้องมีตัวตนไปตั้งหน้าพิจารณาอีก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงเกิดแล้วดับ เร็วมาก ขณะนี้ไม่รู้เลยว่า อะไรเกิดแล้วดับแล้ว ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังรู้ มีลักษณะจริงๆ แต่ละลักษณะ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ในสิ่งที่มีจริงๆ และก็มีเราที่จะต้องการวิธีการ ถ้าใครให้ก็ผิดเลย คือไม่ได้ให้ความเข้าใจ แต่ไปให้อะไรก็ไม่ทราบ ด้วยความเป็นตัวตน ส่งเสริมให้มีความหวังว่า ถ้าทำอย่างนั้นแล้วก็จะได้ และจะละความหวังได้อย่างไร เพราะความไม่รู้

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ทุกคนมีอกุศล เยอะ เกิด เป็นเราหรือเปล่า แค่นี้ค่ะ ระลึกไม่ได้ ก็เป็นเรา ระลึกได้ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อาจหาญ ร่าเริง ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม เกิดแล้วดับด้วย แม้แต่ความทุกข์ร้อนที่เคยมี ยั่งยืนหรือเปล่า อยู่ในขณะนี้หรือเปล่า เพียงเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป

        ผู้ฟัง เมื่อกี้ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่า “พิจารณา” ถ้าสำหรับดิฉัน แค่คิดอย่างเดียว คิดเป็นคำๆ ตามที่ท่านอาจารย์แสดง และท่านอาจารย์แสดงไว้ว่า อย่างเวลาเห็นก็บอกว่า เห็น เมื่อก่อนบอกว่า นามเห็น แต่เดี๋ยวนี้เหลือแค่คำเดียว คือ คำว่าเห็น ก็คิดเป็นคำแบบนั้นอีก ได้แค่คิดอย่างเดียว ไม่ถึงขั้นพิจารณา ต้องขอประทานโทษที่ต้องพูดซ้ำอีกว่า มันอึดอัด

        สุ. อยากไม่คิดหรือเข้าใจถูก ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ที่หนักๆ เพราะอยากไม่คิด แล้วไม่สำเร็จ เพราะอย่างไรก็ยังคิดอยู่ หรือว่าเข้าใจถูกต้องขึ้น ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิดค่ะ ใครก็ทำอะไรไม่ได้ มีตาต้องเห็น จะไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ มีหูก็ต้องได้ยิน มีจมูกก็ต้องได้กลิ่น มีลิ้นก็ต้องลิ้มรสที่กระทบ มีกายต้องรู้สิ่งที่กระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว มีใจก็ต้องคิด จะไม่ให้คิดได้อย่างไร ห้ามไฟไม่ให้ร้อนได้ไหม อย่าร้อนนะ เพราะฉะนั้นจะบอกจิตว่า อย่าคิดนะ ถูกหรือผิด แลกความคิดกันก็ไม่ได้ แลกเรื่องที่จะคิดกันก็ไม่ได้ ก็เห็นความเป็นอนัตตาชัดเจน แต่ปัญญาไม่พอที่จะรู้ตามความจริง นี่คือปัญหา ทั้งฟัง ทั้งได้ยิน ทั้งรู้ ทั้งจำ แต่ปัญญาไม่พอที่จะละความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขอวิธีการ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267


    หมายเลข 12037
    27 ม.ค. 2567