ฟังจนเริ่มเข้าใจแต่ยังไม่พอที่จะคิดถึงเรื่องธรรม


        สุ. ต่อจากรูปขันธ์ มีอะไรอีกไหมคะ หรือมีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว

        ผู้ฟัง สัญญาขันธ์ค่ะ

        สุ. ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้างคะ

        ผู้ฟัง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

        สุ. ขณะนี้ระหว่างความรู้สึกกับความจำ พอจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ทุกคนกำลังจำทุกขณะจิต แต่สามารถจะรู้ถึงสภาพจำหรือเปล่าว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งทำกิจจำ ไม่เคยหยุดเลย ไม่ว่าจิตรู้อะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าอารมณ์ของจิตเป็นอารมณ์อะไร สัญญา ซึ่งเกิดกับจิตนั้นก็จำ แต่สภาพของสัญญาที่กำลังจำขณะนี้ พอจะรู้ได้ไหม หรือว่ามีสภาพธรรมที่สามารถพอจะรู้ได้ เช่น ความรู้สึก จริงๆ แล้วความรู้สึกรู้ยาก ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ รู้ยากไหมคะ กำลังเห็น ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ฟังชื่อ รู้ว่ามี เข้าใจได้ แต่ตัวจริง ลักษณะสภาพที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในขณะที่กำลังเห็นมีจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “เวทนา” เป็นเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ เพราะว่าความรู้สึกมีทั้งวัน พอที่จะรู้ได้ แต่ที่จำนี่ ลืมไปเลยว่า แท้ที่จริงขณะนี้สัญญากำลังจำหมดทุกอย่าง จำทุกขณะ แต่ว่าความรู้สึกหลังจากที่จำได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร พอที่จะรู้ได้ไหมคะ เฉยๆ หรือว่าโทมนัส หรือโสมนัส โดยเฉพาะทางกายสามารถจะรู้ได้ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์หยาบกว่าความรู้สึกซึ่งเป็นสุขทางกาย

        ขณะที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ พอจะรู้ไหมว่า ทางกาย สุขหรือทุกข์ มี ไม่มีไม่ได้เลยค่ะ ถ้ามีกายวิญญาณเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบกาย ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ปรากฏเมื่อไร จิตที่กำลังรู้ลักษณะนั้น จะต้องเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด คือ ทุกข์หรือสุข ทั้งๆ ที่เป็นของที่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็ยากที่จะรู้

        เพราะฉะนั้นแม้แต่สุขทางกาย หรือทุกข์ทางกาย ถ้าเพียงเล็กน้อย ผ่านไปเลย หลายๆ คนคงถูกพัดลมพัด ผมปรก มือปัด แค่นั้นก็ผ่านไปหมดแล้ว ไม่รู้ถึงความรู้สึกรำคาญ หรือแม้เพียงเส้นผมเส้นเดียว ก็รู้สึกได้ แต่ว่าลืมว่า ขณะนั้นความรู้สึกนั้นมีจริง เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป และขณะที่กำลังรำคาญผมเส้นเดียวที่กระทบหน้าผาก หรือหน้าก็ตามแต่ ขณะนั้นความรู้สึกเป็นอะไรคะ ชอบหรือไม่ชอบ รู้สึกโทมนัสหรือทุกข์ เห็นไหมคะว่า เกือบจะไม่รู้เลยว่าเป็นทุกข์ แต่ความไม่ชอบที่เป็นโทมนัสที่เกิดต่อก็ปรากฏให้พอจะรู้ได้

        เพราะฉะนั้นสภาพของความรู้สึกแต่ละขณะนี้มี แต่ก็ฟังเรื่องชื่อ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นก็กำลังเป็นอย่างนั้นแหละ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมบ่อยๆ เพื่อให้คิดถึงธรรมที่ได้ฟัง และในขณะที่ฟังก็กำลังคิดเรื่องที่ฟังด้วย เพื่อที่จะให้เป็นความจำมากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เคยจำมาแล้ว เพราะว่าเคยจำเรื่องไร้สาระมามากเลย แต่ว่าสาระ คือ สิ่งที่มีจริงๆ และเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจยังไม่พอที่จะคิดถึงเรื่องธรรม เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ จะคิดถึงเรื่องอื่นมากกว่า คิดถึงเพื่อน คิดถึงญาติพี่น้อง คิดถึงธุรกิจการงาน คิดถึงปัญหา คิดถึงอะไรก็แล้วแต่ แต่คิดถึงธรรมจะมีเมื่อไร ถ้ามีเมื่อไรก็รู้เลยว่า ถ้าไม่มีการฟังมาก่อน จะคิดถึงธรรมไหม? เพราะมักจะคิดเรื่องอื่นมานานแสนนาน และจะให้มาคิดถึงธรรม ก็ต้องอาศัยการฟัง ขาดการฟังไม่ได้เลย ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ฟังแล้วฟังอีก เพื่อเข้าใจขึ้นอีก ฟังแล้วก็จะได้จำ จนกระทั่งมีความมั่นคงว่า เป็นธรรม เพราะแม้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ว่าความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏยังไม่มี ตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ขณะนั้นจะชื่อว่า รู้จักธรรมไม่ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267


    หมายเลข 12035
    27 ม.ค. 2567