วิบากจิต


        อ.วิชัย จิตแต่ละประเภท ก็จะมีกิจการงานของจิตแต่ละประเภทอยู่ อย่างเช่น ได้กล่าวถึงเรื่องของวิญญาณ วิญญาณธาตุ ถ้าจะกล่าวทั้งหมดก็มีเป็น ๑๐ ประเภท เช่น จักขุวิญญาณ ก็มีทั้งที่เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

        เราก็พอจะทราบได้ว่า จิตที่เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งจิตชาติวิบากเมื่อเกิดแล้ว แสดงว่ากรรมนั้นได้ให้ผลแล้ว คือ ให้จิตที่เป็นชาติวิบากเกิดขึ้นทำกิจ อย่างเช่นจักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจอะไรครับ ถ้าทราบชื่อ ก็เป็นทัสสนกิจ หรือกิจเห็น นี่เอง จิตได้ยิน ก็ทำกิจได้ยิน เรียกว่า สวนกิจ ก็เป็นชื่อภาษาบาลีที่เป็นชื่อของกิจ แต่เมื่อเราเข้าใจความหมาย และทราบว่า จิต ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ประเภท เกิดขึ้นก็ต้องทำกิจ จิตเห็นเกิดขึ้นก็ต้องทำกิจเห็น จิตได้ยินเกิดขึ้น ก็ต้องทำกิจได้ยิน จิตได้กลิ่นก็ทำกิจได้กลิ่น จิตลิ้มรสก็ทำกิจลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ทำกิจรู้สัมผัส หรือโผฏฐัพพะ

        อันนี้ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจ แต่ว่าจิตอื่นที่เป็นชาติวิบาก ที่เป็นผลของกรรม ไม่ได้ทำกิจเหล่านี้เลย แต่ทำกิจอื่น เช่น ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เป็นชาติวิบากชาติเดียว เพราะเหตุว่าเมื่อการเกิดครั้งแรกเป็นผลของกรรมในอดีตที่เป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิต่างๆ

        เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตขณะแรกก็เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม และสำหรับบุคคลที่ทำกุศล ที่เป็นขั้นกามาวจระ เช่น กุศลที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนาที่เป็นขั้นกามาวจระ เมื่อให้ผล ก็เกิดในกามสุคติภูมิ แต่บุคคลเมื่อทำอกุศลกรรม เมื่อให้ผล ก็เป็นปัจจัยให้จิตชาติวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ซึ่งปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ก็มีจิตเพียงประเภทเดียว คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ไม่ว่าจะเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ก็ตาม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็มีจิตประเภทเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ส่วนบุคคลที่ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ ก็จะมีจิต ๙ ประเภท ที่ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน ก็ทำให้ปฏิสนธิในมนุษย์หรือสวรรค์ชั้นต้นที่พิการแต่กำเนิด หรือบุคคลที่กำเนิดด้วยกุศลที่มีกำลัง ก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากในกามสุคติภูมิ

        นี่ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เมื่อได้กระทำกรรมไว้แล้ว ก็มีจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของกรรม และจิตที่เกิดซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น เกิดมาก็ทำกิจตามหน้าที่ของจิตนั้นๆ มีกิจเห็นเป็นต้น หรือทำกิจปฏิสนธิในภูมิต่างๆ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266


    หมายเลข 12029
    23 ม.ค. 2567