เป็นเราที่พยายามให้สติสัมปชัญญะเกิด


        อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เตือนอยู่เสมอเลยว่า การศึกษาพระธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อจำชื่อหรือเรื่องราว แต่เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่ท่านกล่าวถึงจิต เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ก็ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ด้วย ดังนั้นการที่จะรู้จิตในขณะนี้ที่มีในชีวิตประจำวัน จะพิจารณาอย่างไรคะ

        สุ. ถ้ามีตา จักขุปสาท เห็นไหมคะ

        อ.กุลวิไล จักขุปสาท ไม่ได้ทำกิจเห็น

        สุ. ไม่สามารถเห็น เพราะเหตุว่ารูปธรรมทั้งหมดไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม

        เมื่อวันก่อนก็มีผู้สนทนาเรื่องคอมพิวเตอร์ แล้วก็บอกว่าจำเก่ง เป็นไปได้ไหมคะ คอมพิวเตอร์จะจำอะไรได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย นั่นคือบุคคลนั้นยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของธรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ใครกำลังเห็นสิ่งที่เขาเรียกว่า คอมพิวเตอร์ ขณะที่กำลังเห็น เป็นขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วรู้ลักษณะนั้น แล้วสัญญา สภาพที่จำ ก็รู้ว่า ลักษณะนั้นคืออะไร

        เพราะฉะนั้นในขณะนี้ สภาพธรรมที่เราได้ฟัง กำลังทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ โดยที่ว่าเกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น เป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่เราจะไปพยายามให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็รู้การเกิดดับของสภาพนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ ให้ทราบได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจความจริงของลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่ใช่เราที่เข้าใจ

        เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวล เมื่อไรสติจะเกิด เมื่อไรจะรู้การเกิดดับของสภาพธรรม นั่นคือโลภะ กำลังหมกมุ่น แล้วก็มีความปรารถนา โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และเป็นเครื่องกั้น เพราะว่าโลภะ เป็นความติดข้องต้องการ ไม่ใช่เป็นการเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม

        ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ต้องละเอียด ต้องรอบคอบ ต้องรู้จริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นโลภะที่เป็นอกุศล และขณะไหนเป็นกุศล มิฉะนั้นก็แยกไม่ออก ก็ยังคงมีอกุศล และความติดข้องเหมือนอย่างเดิม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264


    หมายเลข 12021
    23 ม.ค. 2567