บาปหรือไม่บาป


        ผู้ถาม ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น เราควรทำอย่างไรดีครับ

        สุ. ไม่ใช่จิตของเรา หรือของใคร ต้องพิจารณาตามความเป็นจริง จิตใดก็ตามที่ต้องการเบียดเบียนประทุษร้าย ไม่ว่าจิตของใครทั้งหมด ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีหรือไม่ดี

        ผู้ถาม ไม่ดี

        สุ. ไม่ดี ต้องรับตามความเป็นจริง แล้วจริงๆ แล้วที่กล่าวว่า “ไม่อยากจะฆ่า” ขณะหนึ่ง แต่ฆ่า อีกขณะหนึ่ง แล้วถ้าไม่มีเจตนาจะฆ่า การฆ่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แล้วรู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นสัตว์ที่มีชีวิต ต้องการให้สัตว์นั้นตาย ใครก็ตาม ไม่ใช่เราหรือเขา หรือใคร แต่ธรรมเป็นธรรม ขณะนั้นเป็นจิตที่มีกำลัง ที่สามารถจะเบียดเบียนบุคคลอื่นได้ถึงชีวิต

        เพราะฉะนั้นคงไม่มีใครอยากถูกเบียดเบียนอย่างนี้ แต่จิตที่เป็นอกุศล ก็สามารถจะกระทำการเบียดเบียนอย่างนั้นได้

        การศึกษาธรรม ไม่ใช่ให้เข้าข้างตัวเราว่า อกุศลทั้งหลายไม่ดีก็รู้ ไม่อยากทำก็จริง แต่ทำ อันนั้นไม่ใช่ ต้องเป็นผู้ที่ตรง ไม่ว่าเรา หรือเขา หรือใคร ไม่มีเชื้อชาติด้วย ไม่ว่าชาตินี้ทำไม่เป็นไร ชาตินั้นทำไม่ได้ หรืออะไรอย่างนี้ แต่ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือ ศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจถูกในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดง ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ใครก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ที่กำลังมีในขณะนี้ได้ นอกจากค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ

        เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจของผู้ฟัง ผู้ศึกษาเอง เพื่อที่จะไม่ต้องถามคนอื่นว่า ทำอย่างนี้บาปไหม เพราะบาป หมายความถึงจิตที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไรกับใคร

        เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า บาปหรือไม่บาป ก็คือสามารถจะรู้จิตในขณะนี้ได้ว่า ขณะนี้จิตต่างกันหลากหลาย เป็นจิตที่เป็นเหตุที่ดีก็มี เป็นเหตุที่ไม่ดีก็มี เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมที่ไม่ดี ที่ได้กระทำแล้วก็มี เป็นผลของกรรมที่กระทำแล้วที่ดีก็มี

        นี่คือเราไม่เคยรู้เรื่องของจิตซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไป โดยที่ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้ามีความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นเราหรือเปล่า

        ผู้ถาม ไม่ใช่เราครับ

        สุ. ไม่ใช่เรา และเป็นจิตที่ดีงามหรือเปล่า ที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก

        ผู้ถาม เป็นจิตที่ดีงาม

        สุ. ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จิตที่ดีงามก็เจริญเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท หมายความว่าไม่มีการเกิดขึ้นอีกได้เลย แต่ต้องเป็นตามลำดับขั้นด้วย แต่ที่ไม่ลืม คือ ฟัง พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกของตัวเอง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248


    หมายเลข 11859
    10 ม.ค. 2567