กฐิน


        ท่านอาจารย์ คำที่กล่าวว่า กฐินตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่เรื่องเงินทองเป็นการถูกต้อง แต่ว่ายุคนี้สมัยนี้ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น กฐิน ไม่ใช่กฐิน แต่เป็นเรื่องเงินทอง เพราะว่า ถ้าเป็นกฐินจริงๆ ไม่ใช่หน้าที่ของคฤหัสถ์ เพราะว่า เป็นเรื่องของพระวินัย ขอเชิญคุณธีรพันธ์ค่ะ

        อ.ธีรพันธ์ กฐิน ความหมายก็คือ ไม้สะดึง สำหรับที่ขึงผ้าทำจีวร สำหรับภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือน เมื่อออกพรรษาแล้วก็มีเรื่องที่ท่านแสดงไว้ในพระวินัย ก็คือภิกษุจำนวนหนึ่ง ๓๐ รูป ไปเฝ้าผู้มีพระภาคแต่ว่าในระหว่างทางไปไม่ทันก็พักอยู่ที่เมืองสาเกต ภิกษุที่พักอยู่ก็ดีใจคิดถึงว่าระยะทางเพียง ๖ โยชน์เอง แต่เราก็ไม่ได้ไปเฝ้าผู้มีพระภาค จนออกพรรษาก็กระทำปวารณาเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถึงความเป็นมาหรือว่าเหตุที่มา ความอยู่สบายภิกษุเหล่านั้นซึ่งเป็นชาวปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป

        ทูลต่อถึงว่าที่มา ก็มาระหว่างทางก็หล่มเลนเต็มไปด้วยน้ำ เป็นเหตุให้จีวรเปียกชุ่ม ก็เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงเรื่องของการที่จะกรานกฐิน กรานกฐิน ก-ร-า-น กราน การกระทำกฐินกรรมสำหรับภิกษุที่ออกพรรษาแล้ว จะได้มีผ้าไว้สำหรับใช้ แต่ว่าในระหว่างที่แสวงหาผ้าต้องกระทำภายใน ๑ เดือนหลังจากออกพรรษา ถ้าเลยจากนั้นแล้วก็กระทำไม่ได้แล้วต้องภายใน ๑ เดือน

        เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของผ้าเป็นเรื่องของภิกษุที่ท่านจะร่วมกันสามัคคีกันที่จะกระทำผ้าผืนใดผืนหนึ่งสำหรับภิกษุที่ทรงคุณหรือว่าภิกษุที่สมควรที่จะได้รับอย่างเช่นเป็นภิกษุที่เป็นพหูสูตร เล่าเรียนพระพุทธพจน์ ในที่ประชุมสงฆ์ก็พร้อมเพรียงกันถวายให้ภิกษุรูปนั้นได้ผ้าไว้ใช้สอย หลังจากที่อยู่จำพรรษา เป็นเรื่องของภิกษุ ไม่ใช่เรื่องของคฤหัสถ์ที่จะมาเกี่ยวข้องเลย

        ท่านอาจารย์ ชีวิตของพระภิกษุไม่ง่าย ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในพระธรรมวินัย และรู้ว่าตนเองสามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้ เพราะฉะนั้น ผ้าเป็นสิ่งซึ่งไปขอคนอื่น ชาวบ้านที่เขาไม่บอกไว้ว่า ถ้าท่านประสงค์สิ่งใดก็ขอให้บอก เพื่อว่า จะได้ถวาย ที่ใช้คำว่า ปวารณา หมายความว่า รู้ว่าชีวิตของพระภิกษุดำรงอยู่ยาก

        เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ก็คิดว่าสิ่งใดที่จำเป็นต่อพระภิกษุ แต่พระภิกษุไม่สามารถที่จะไปเอ่ยปาก หรือแสวงหาหรือว่าไปซื้อหามาได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่มีเงิน และทอง ก็ปวารณาแสดงความประสงค์ว่าภิกษุรูปนั้น มีอะไรที่ต้องการ ก็ขอให้บอกชาวบ้านผู้นั้นก็จะทำให้ ถวายให้

        ด้วยเหตุนี้ สำหรับผู้ที่เป็นพระภิกษุแต่ว่าไม่มีใครปวาราณา ก็ไปหาผ้า ใช่ไหม ที่ต่างๆ ตามมีตามได้ ป่าช้าบ้าง อะไรบ้าง นี่คือชีวิตที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง คือไม่เอ่ยปากแม้แต่จะขอ ซึ่งเป็นการรบกวนคฤหัสถ์ เพราะว่าเขาจะลำบากแค่ไหนใครจะรู้ ชีวิตของใครก็ไม่สามารถที่จะมีคนอื่นรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ เรื่องของกรานกฐิน ซึ่งหมายความว่า การกระทำกฐินตามพระธรรมวินัย เพราะกฐินคือ ผ้าสำหรับ พระภิกษุที่เมื่อต่างคนต่างแสวงหากันมาแล้ว ก็ร่วมกันทำผ้าผืนนั้นให้เป็นผ้า ที่สามารถที่จะเป็นจีวรหรือเป็นสบงหรือเป็นผืนหนึ่งผืนใดก็ได้ ที่จะให้ภิกษุผู้ขาด ผู้จำเป็นต้องใช้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากสงฆ์ว่าจะมอบผ้าผืนนี้ให้ใคร ทั้งหมดนี้ ขัดเกลากิเลสชนิดซึ่งไม่ใช่อยากได้ก็ขอ หรืออยากได้ก็ทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อที่จะได้มา แต่ต้องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง โดยศึกษาพระวินัยอย่างละเอียด ว่าแม้แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามต้องให้เป็นไปตามพระวินัยซึ่งขัดเกลากิเลส

        ด้วยเหตุนี้ คฤหัสถ์ก็สามารถที่จะถวายผ้ากฐินได้ เพราะทรงอนุญาตไว้ ถ้าภิกษุหาไม่ได้ลำบากมากผ้าไม่พอ คฤหัสถ์รู้ก็ถวายผ้าเพื่อเป็นกฐินตามพระวินัย หมายความว่า เป็นผ้าที่ได้รับจากคฤหัสถ์ในโอกาสพิเศษ ในกาลพิเศษ พ้นจากกาลนั้น เวลานั้นแล้ว ก็ไม่ใช่กฐิน เพราะว่าตามบัญญัติไว้ในเวลาที่จำกัดด้วย แสดงถึงความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว การสละ และการจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุขไม่ใช่ด้วยการแก่งแย่ง หรือว่าไม่ใช่ด้วยเหตุอื่นใด

        ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้คฤหัสถ์ถวายจีวรได้คฤหัสถ์นั้นก็ถวายเฉพาะจีวรเท่านั้น เพราะว่าภิกษุมีเงินทองไม่ได้เลย เป็นนิสสัคคิยะอาบัติ คือ โทษผิดที่ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าชีวิตของบรรพชิตสละทรัพย์สินเงินทอง ทุกสิ่งทุกอย่าง จะกลับมารับเงินทองอีกได้หรือ ในเมื่อได้ตั้งความประสงค์จริงใจ แล้วว่าจะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต

        เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ เป็นชีวิตของบรรพชิต จะไม่เกี่ยวข้องกับเงิน และทองเลย แต่จะมีชีวิตตามสิ่งที่จำเป็นซึ่งคฤหัสถ์ที่เห็นประโยชน์ก็อนุเคราะห์ตามสมควร ในเรื่องของจีวร เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะ ที่อยู่อาศัยที่พอเหมาะพอควร ในเรื่องอาหารบิณฑบาตรตามมีตามได้ เขาให้อะไรก็ไปเลือกไม่ได้ แล้วก็ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เท่านั้นอยู่ได้ไหม ได้แน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่จะขัดเกลากิเลส อาหารอิ่มแล้วก็พอแล้ว เสื้อผ้าพอสมควร ที่อยู่ก็มีแล้วเวลาที่ป่วยไข้ก็มียารักษาโรค ชีวิตดำรงอยู่ได้เพราะขัดเกลากิเลส

        เพราะฉะนั้น กฐินไม่ใช่อย่างที่พุทธบริษัท ผู้ไม่เข้าใจ และไม่รู้จักพระพุทธศาสนา กระทำสืบสืบต่อกันมา โดยการที่กฐิน คือ เงินใช่ไหม ไม่ใช่กฐิน คือผ้าที่อนุญาตไว้ตามพระวินัยบัญญัติ และบางคนก็หาวิธีที่จะได้เงินโดยการที่ให้มีผู้ที่ถวายกฐินเป็นเจ้าภาพ ใช้คำว่าเจ้าภาพ แต่ผ้าผืนเดียว แล้วคนอยากถวายเยอะ ก็เลยมาร่วมกันเป็นกฐินสามัคคี เป็นเจ้าภาพกฐินร่วมกัน แต่ว่าคนหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของใช่ไหม คนอื่นก็เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เป็นสามัคคีไป ทุกอย่างเนี่ยคิดเองทำเองเป็นการทำลายพระธรรมวินัย โดยที่ไม่เข้าใจเลย คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความจริงเมื่อไม่เข้าใจธรรม ไม่เข้าใจพระวินัยก็ทำสิ่งที่คิดว่า พระภิกษุ ก็คือ เหมือนคฤหัสถ์ทุกอย่างเพียงต่างกันที่จีวร เครื่องนุ่งห่มเท่านั้นที่ต่างกันแต่ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนคฤหัสถ์ สมัยนี้บางแห่งก็รับประทานอาหารเย็น ถูกไหม ความจริงต้องเป็นความจริงเพื่อแก้ไข สิ่งใดที่ผิด เมื่อรู้ว่าผิดต้องแก้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็เป็นการทำลายพระศาสนา

        ด้วยเหตุนี้ ถ้าเป็นผู้ที่เคารพในพระธรรมวินัยในพระรัตนตรัยก็คือต้องศึกษาให้เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิดถ้าเราเข้าใจผิดก็ศึกษาให้ถูกแล้วก็ทิ้งสิ่งที่ผิดไปไม่ใช่ว่าจะทำๆ ตามๆ กันเหมือนเดิมให้ผิดต่อไปซึ่งก็เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ตรง


    หมายเลข 11805
    31 ธ.ค. 2566