สติมีลักษณะบำรุง


        อ.ธนากร สติ เป็นธรรมชาติที่บำรุงนั้น คืออย่างไรครับ

        ท่านอาจารย์ ก็ต้องขอให้คุณวิชัยช่วยบอกว่า สติคืออะไร

        อ.วิชัย สติ หมายถึง ธรรมที่ดีงาม ที่ระลึกเป็นไปในคุณความดีครับท่านอาจารย์

        ท่านอาจารย์ เพราะระลึกเป็นไปในกุศล

        อ.ธนากร ระลึกเป็นไปในกุศล จึงเป็นธรรมชาติที่บำรุง

        ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ระลึกเป็นไปในกุศลก็เป็นอกุศล เพราะว่า สติระลึกเป็นไปในกุศลทุกประการ เมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น ฟังเข้าใจแล้วใช่ไหม เมื่อไหร่สติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็เป็นการบำรุง ปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น มาแล้วฟังแล้วสติระลึกขณะที่เข้าใจ แต่ถ้าคิดเรื่องอื่นขณะนั้นไม่ใช่สติ เพราะสติระลึกในทางที่เป็นกุศล

        เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ด้วยตัวเอง พระธรรมไม่ใช่ให้คนอื่นรู้ แต่ให้ผู้ที่ฟังค่อยๆ เข้าใจแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเข้าใจขึ้นทุกคำ เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมทีละคำ นั่งอยู่ที่นี่มีคนข้างนอกเขาบอกว่าพวกเรามาฟังธรรมดูดี แต่ว่าต้องแล้วแต่ขณะจิตแต่ละ ๑ ขณะ ว่าเป็นกุศลหรือเปล่า ยิ่งละเอียดขึ้นใช่ไหม ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะไปเป็นตัวตนทำอะไรได้เลย แต่เห็นผิดจึงเลยมีตัวตนที่จะพยายามไปทำ เพราะฉะนั้น สติเกิดหรือเปล่าขณะนั้น ไม่มีใช่ไหม เพราะเข้าใจผิด ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราจะกล่าวถึงธรรมชาติของสภาพธรรมที่เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในกุศล ก็ในขณะที่กุศลจิตเกิด ตามลำดับขั้น แต่ไม่ใช่ว่ามาฟังธรรมแล้วก็เป็นกุศล ต้องขณะที่ฟัง เข้าใจหรือเปล่า หรือคิดถึงเรื่องอื่น หรือไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรง

        อ.อรรณพ การบำรุงของสติทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นสติปัฏฐาน กับการที่ขณะนั้นสติเป็นสติปัฏฐาน มีลักษณะการบำรุงที่ต่างระดับกันอย่างไรครับท่านอาจารย์

        ท่านอาจารย์ สติระลึกเป็นไปในกุศลแน่นอน แต่ว่ากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี อย่างวันนี้ ก็คงจะมีหลายคนที่เป็นกุศล แต่ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเพราะสติเกิดจึงมีการระลึกเป็นไปในกุศล แม้แต่การที่จะช่วยเหลือใครเพียงเล็กๆ น้อยๆ แม้แค่บอกทาง ขณะนั้นก็เพราะสติ ก็บำรุงกุศลในทางที่ช่วยเหลือคนอื่นใช่ไหม แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะอะไร ขณะที่กำลังช่วยเหลือคนอื่น ก็ไม่รู้ตัวเลยเป็นเรา สติเพียงแต่ทำให้เกิดการกระทำที่ดีงาม แต่เมื่อประกอบด้วยปัญญา จึงรู้ว่าขณะไหนเป็นสติ

        เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีปัญญา แม้แต่เราจะช่วยเหลือใคร บริจาคเงินช่วยคนทุกข์ยาก หรือว่าจะพูดจาที่น่าฟังช่วยเหลือคนอื่นให้เขาสบายใจ ให้รู้จักประโยชน์ ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเป็นกุศลแม้เดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นสติไม่ใช่เรา แต่ก็บำรุงในทางที่ดีงามไม่ให้ตกเป็นไปในทางฝ่ายอกุศล แต่เมื่อประกอบด้วยปัญญาแล้ว ขณะนั้นจึงรู้ว่านี่คือสติ ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ เช่นเดี๋ยวนี้ ฟังธรรมเข้าใจไม่รู้เลยเข้าใจเป็นปัญญา แต่ก็มีสติอยู่ด้วย พูดเรื่องอะไร ก็พูดเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะมีลักษณะเฉพาะของตนๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนไม่ได้แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อโกรธเกิดขึ้น เป็นอื่นไม่ได้เลย ลักษณะหยาบกระด้างเกิดแล้วขณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ ก็เป็นลักษณะของความโกรธ ฟังเข้าใจแต่เวลาโกรธเกิดขึ้นไม่ใช่สติขณะนั้น

        เพราะฉะนั้น จึงอาศัยการฟังเข้าใจๆ เป็นปัจจัยให้ขณะนั้น โกรธเกิดยังคิดขณะนั้นไม่ใช่เรา แค่คิดก็เป็นสติแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรากฏลักษณะของสติ เพราะเป็นเราคิดใช่ไหม เป็นเราตลอดเวลาจะโกรธเขาทำไม มีประโยชน์อะไรเขาสบายดี ป่านนี้เขาคงสนุกสนานรื่นเริง และเราก็มานั่งโกรธเค้า ใครเสียประโยชน์กันแน่ใช่ไหม ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นั่นคือสติขั้นคิด ก็ยังเป็นเราแต่ว่าเมื่อฟังธรรม มีความเข้าใจว่า ธรรมแต่ละหนึ่งมีลักษณะเฉพาะหนึ่ง ปะปนกันไม่ได้เลย

        เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ฟังว่าเห็นไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา ฟังไม่ใช่ฟังแค่นี้ เห็นเกิดขึ้นได้ยังไง ได้ยินเกิดขึ้นได้ยังไง ขณะนั้นต้องอาศัยอะไรบ้างเป็นปัจจัย โดยฐานะอย่างไร ที่จะทำให้จิตแม้หนึ่งขณะเกิดขึ้นรู้ มีความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นมั่นคงขึ้น

        เพราะฉะนั้น เมื่อพร้อมคือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอะไรก็ตามเกิดขึ้นแล้ว สติเกิดแทนตัวตนที่ความโกรธเกิด ก็ไม่อยากจะโกรธหาทางไม่โกรธ แต่สติเกิด ขณะนั้นรู้ลักษณะที่โกรธ ขณะนั้นจริง หรือว่าขณะนั้นสติไม่ใช่เรา เพราะเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องเป็นปัญญา ไม่มีปัญญาเกิดไม่ได้เลย

        เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทรงแสดงไว้ตามลำดับขั้นว่า ขั้นปริยัติ คือ ขั้นฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ฟังแล้วเข้าใจขึ้นระดับไหน รอบรู้ในพระพุทธพจน์สามารถที่จะเข้าใจได้ ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมที่เกิดดับ สัญญาจำมั่นคงขึ้น เป็นปัจจัยให้ถึงเวลา ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น แม้แต่แข็งเดี๋ยวนี้ กระทบไป ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้ฟัง ว่าแข็งนี้ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฎ และแข็งจะเป็นอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น ลักษณะแข็งมีลักษณะเฉพาะให้รู้ว่า นี่เป็นธรรมเท่านั้นเป็นอื่นไม่ได้

        ถ้าฟังจนกระทั่งมีความมั่นคง สติสัมปชัญญะที่กำลังรู้แข็งเฉพาะแข็ง เข้าใจถูกต้องในขณะนั้น ปัญญาจึงรู้ว่า ขณะนั้น ต่างกับขณะที่เป็นกุศลขั้นอื่นที่เป็นทานบ้าง ศีลบ้าง ลักษณะของสติก็ปรากฏ เพราะขณะนั้น มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ และรู้ว่ามีสภาพธรรม ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้แล้วก็ขณะนั้น ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็เกิดดับเพราะเกิดดับจริงๆ

        ด้วยเหตุนี้ สติปัฏฐานก็ต้องปรากฏกับปัญญาที่ถึงพร้อม ที่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ และขณะไหนสติเกิด ไม่ใช่ไปทำสติ แต่ขณะไหนมีปัจจัยที่สติเกิด ปรากฏความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น หนทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เปลี่ยน เป็นหนทางตรงตั้งแต่คำแรกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

        เพราะฉะนั้น ปัญญาเกิดขึ้น ความเป็นอนัตตาก็ปรากฏเพิ่มขึ้น อย่างโกรธไม่อยากโกรธ ขณะนั้นก็ยังพอนึกขึ้นได้นิดๆ หน่อยๆ ว่าบังคับบัญชาไม่ได้แต่ยังไม่รู้ลักษณะที่โกรธเพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดขึ้น แต่ถ้าสติเกิดขณะนั้นลักษณะของสติปรากฏ รู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏพร้อมการเข้าใจที่ถูกต้อง


    หมายเลข 11801
    31 ธ.ค. 2566