พุทธศาสนาเถรวาท


        ผู้ฟัง พระพุทธศาสนาเถรวาท คำๆ นี้ เพึ่งบัญญัติอยู่ ในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ ๒๕๖๐ ในหมวดของแนวนโยบายแห่งรัฐในมาตรา ๖๗ แล้วก็มีคำว่า พระธรรมวินัยอยู่ในนั้นด้วย อยากให้ท่านอาจารย์ กรุณาให้ความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้น เชิญครับ

        ท่านอาจารย์ ปัญหาทั้งหมดไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่ไหนก็ตาม เพราะไม่รู้จักเถรวาท แม้ว่าจะเรียกชื่อว่าเถรวาท บัญญัติในกฎหมายว่าเถรวาท แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม จะเป็นเถรวาทได้ไหม เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเข้าใจถึงเบื้องลึกตั้งต้น ต้นตอจริงๆ ว่าไม่ว่าจะพูดคำอะไรก็ตาม อย่าเผิน ต้องเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ มี ๒ คำ เถรวาท ขอเชิญคุณคำปั่น

        อ.คำปั่น เถระ คือ มั่นคง วาทะ คือ ถ้อยคำ ก็รวมกันเป็น ถ้อยคำที่มั่นคงครับ

        ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมใช่ไหม ถ้าเข้าใจผิด มั่นคงได้ไหม ก็ไม่มั่นคงแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะใช้คำนี้ตามกฎหมาย หรือว่าไม่ใช่ตามกฎหมายก็ตามแต่ แต่ก็รู้ได้ว่าคำใด ที่ไม่ใช่คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว และคนนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อน เป็นคำไม่จริง และไม่ตรง เพราะเหตุว่า ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำที่จริง เปลี่ยนไม่ได้อีกเลย วาจาสัจจะทุกคำ

        เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เพียงเอ่ยคำว่า เถรวาท แต่ถ้าเข้าใจผิด ไม่ใช่เถรวาท เพราะฉะนั้น วาทะที่มั่นคง เพราะ เถระ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่เพราะบวชนาน คิดว่าบวชตั้งหลายปีคงมั่นคง ไม่ใช่ หรือว่าคนที่บวชเมื่อแก่อายุมากเขาเรียกว่าพระเถระ ก็ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นธรรมเถระเท่านั้น ที่จะมั่นคงในพระธรรมจึงจะเป็นเถรวาทไม่เปลี่ยนเลย

        ด้วยเหตุนี้ ใครจะใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรม ไม่ใช่เถรวาท ด้วยเหตุนี้ ทุกคำต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องพระภิกษุรับเงินทอง หรือว่าสำนักปฏิบัติ ซึ่งทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น ก็ไม่ใช่เถรวาท ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่มั่นคงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร

        เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เราจะหยิบยกเพียงบางประเด็น แต่ให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีความมั่นคงในความเข้าใจที่ถูกต้อง ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่เถรวาท ภิกษุรับเงินทอง เป็นเถรวาทหรือเปล่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ที่ทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ เพราะผู้ที่บวชต้องรู้ ว่าไม่ใช่คฤหัสถ์แล้วก็บวชทำไม ถ้าเป็นภิกษุเถรวาท บวชเพื่อขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ในเพศบรรพชิตซึ่งต่างกับคฤหัสถ์ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตื่นขึ้นก็รู้แล้ว เราไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป และสิ่งที่พระภิกษุจะต่างกับคฤหัสถ์ก็คือ สิกขาบท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เพื่อการขัดเกลากิเลส กิเลสมากมายมหาศาล ผู้ที่ฟังธรรมในเพศคฤหัสถ์ สามารถที่จะดับกิเลสรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระโสดาบัน ถึงความเป็นพระสกทาคามี ถึงความเป็นพระอนาคามี เมื่อใดถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต เพราะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปได้

        เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความตรง และความจริงว่าภิกษุคือใคร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจธรรม รับเงินทอง แล้วก็มีสำนักปฏิบัติ ไม่ใช่เถรวาท


    หมายเลข 11793
    31 ธ.ค. 2566