เข้าใจสมาธิ


        อ.อรรณพ คนจะให้ความสำคัญกับเรื่องการทำสมาธิ แล้วก็มองว่าพระพุทธศาสนาเนี่ยนะครับ มีสิ่งสำคัญหลักประการหนึ่ง ก็คือ เรื่องของการที่ทำสมาธิ กราบเรียนท่านอาจารย์ให้ความเห็นในเรื่องของ สมาธิกับพระพุทธศาสนา

        ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนา คือ อะไร

        อ.อรรณพ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        ท่านอาจารย์ ค่ะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ใคร

        อ.อรรณพ คือ ผู้ที่บำเพ็ญพระบารมี ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย

        ท่านอาจารย์ พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ อะไร

        อ.อรรณพ คือ พระปัญญาที่สามารถเข้าใจสภาพธรรม และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงแสดงจำแนกพระธรรม ให้ผู้ฟังได้เข้าใจ

        ท่านอาจารย์ ทำไมกล่าวถึง ปัญญาคุณ ไม่ใช่สมาธิคุณ

        อ.อรรณพ เพราะปัญญา จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่จะทำสมาธิ คิดว่าสมาธิสำคัญ ถูกต้องไหม ทุกคนมีความยาก ไม่เคยพ้นไปเลยสักอย่างเดียว ฟังธรรมเผินๆ อยากรู้นิพพาน อยากรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อยากหมดกิเลส นี่คือ อยาก แต่ว่า อยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดสังสารวัฎไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น อยากเนี่ย ดีไหม

        อ.อรรณพ ตอบแทนว่า ถ้าอยากในทางที่ดี ก็น่าจะดี

        ท่านอาจารย์ อะไรล่ะค่ะ

        อ.อรรณพ ก็อยากที่จะหมดกิเลส

        ท่านอาจารย์ อยากหมดกิเลส เพราะไม่รู้จักกิเลส ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ฟังธรรม และเข้าใจในความเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตาหรือเปล่า

        อ.อรรณพ ไม่ใช่

        ท่านอาจารย์ แม้แต่เพียงประโยคแรก ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจแจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ก็ไม่เห็นว่าสำคัญ กับคิดว่าอยากจะทำสมาธิ

        อ.อรรณพ ทำไมเขาถึงชอบทำสมาธิ

        ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร ทรงแสดงธรรมอะไร เพื่ออะไร และใครสอนให้เขาทำสมาธิ

        อ.อรรณพ ครู อาจารย์

        ท่านอาจารย์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

        อ.อรรณพ ไม่ใช่

        ท่านอาจารย์ ให้มีความเข้าใจอะไรหรือเปล่า

        อ.อรรณพ ไม่ได้ให้มีความเข้าใจ บอกว่าเดี๋ยวทำเอง เดี๋ยวก็เห็นเอง รู้เอง

        ท่านอาจารย์ ไม่ยากใช่ไหม

        อ.อรรณพ ไม่ยาก

        ท่านอาจารย์ แต่ก็ง่ายดี แต่ว่าไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น จะให้อะไรใคร ก็ให้ความรู้ ซึ่งคนอื่นให้ไม่ได้ นี่คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปหาฤาษีชีไพรในป่า สมัยที่ยังไม่มีการตรัสรู้ มีเยอะแยะนะคะ ในป่า ทำสมาธิ ได้ฌาณอะไร ไม่ได้ฌาณก็มี แต่ว่าไม่ได้มีความเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ชาวโลกมี ก่อนการตรัสรู้ ก็คือว่า ไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่เข้าใจธรรมด้วย แต่เมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เมื่อฟังจึงได้เข้าใจความจริงว่า ไม่มีเรา

        เพราะฉะนั้น คนที่ทำสมาธิเนี่ย เป็นตัวตน เป็นเราที่อยากจะทำสมาธิ ไม่ได้เข้าใจเลยว่าขณะนั้นเป็นอะไร ก็ลองไตร่ตรองนะคะ ทำสมาธิกับเข้าใจสมาธิควรจะเป็นอย่างไร ทำสมาธิกับเข้าใจสมาธิ ต่างกันไหม

        อ.อรรณพ ต่างกัน

        ท่านอาจารย์ อะไรเป็นประโยชน์

        อ.อรรณพ ความเข้าใจ ย่อมเป็นประโยชน์

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไปทำสมาธิ โดยไม่รู้อะไรเลย เป็นประโยชน์ไหม

        อ.อรรณพ ไม่เป็นประโยชน์

        ท่านอาจารย์ กับการที่รู้ว่า สมาธิ คือ อะไร เป็นประโยชน์กว่าไหม

        อ.อรรณพ เป็นประโยชน์

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เช่น คำว่าสมาธิ มีจริงๆ หรือเปล่า เป็นสภาพธรรมอะไร ใครก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของทุกอย่างซึ่งมีจริง เพราะฉะนั้น ทรงแสดงว่า สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง มี เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ แต่ไม่ใช่ปัญญา เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร อย่างได้ยินเสียง เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น เพราะฉะนั้น จึงรู้แจ้งในเสียงที่กำลังได้ยิน นั่นคือ จิต แต่ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่ปัญญา

        เพราะฉะนั้น เขาไม่มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น มีความต้องการที่จะไม่วุ่นวาย ที่จะสงบ คิดว่าจะสงบได้ แต่ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลยนะคะ เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าอยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็ไปพยายามทำ แต่ไม่รู้อะไรความไม่รู้มีมาก แต่ความรู้ต้องมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดยิ่งนะคะ ว่าจิตเกิด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ เกิดร่วมด้วย สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่จิต ก็คือ เจตสิก ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่า เจตสิก

        เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะรู้ความต่างกัน นี่เป็นปัญญาแล้วนะคะ รู้ความต่างกัน ว่าจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่กำลังปรากฏเช่น เสียงได้ปรากฏ จิตรู้แจ้งในเสียงนั้น กลิ่นใดปรากฏ กลิ่นมีตั้งหลายกลิ่น แต่กลิ่นใดปรากฏ และจิตรู้แจ้งในกลิ่นที่ปรากฏ ไม่ใช่กลิ่นอื่น นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็น เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าแม้สมาธิก็มีจริง แต่ก็ไม่ใช่เราแล้วก็ไม่ใช่จิตด้วย แต่เป็นสภาพธรรม ที่เป็นเจตสิก ที่เกิดกับจิต ทรงจำแนกเจตสิกไว้ทั้งหมด ๕๒ ประเภท โดยประเภท แต่โดยความละเอียด มีตั้งแต่น้อยจนกระทั่งถึงใหญ่ ตั้งแต่เล็กน้อยที่สุดจนถึงมากมายที่สุด

        เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์เป็นเจตสิก จิตเกิดขึ้นหนึ่ง ขณะแล้วดับ จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ต้องมีสิ่งเดียวที่ถูกรู้ เพราะจิตหนึ่งต้องรู้สิ่งหนึ่ง และขณะที่จิตหนึ่งเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ใครรู้ ควรรู้ไหม หรือว่าไปทำสมาธิแล้วจะรู้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ไม่มีใครสามารถที่จะให้ได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค่ายิ่งนะคะ เพราะสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของทุกคำ ที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว แต่ก็ต้องเป็นการอบรม เข้าใจขึ้นๆ เพราะไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไหร่ เป็นต้น

        เพราะฉะนั้น สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เกิดกับจิต ภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตา เป็นเจตสิกหนึ่ง เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้น จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง เพราะเจตสิกนี้ ตั้งมั่นในอารมณ์อะไร จิตก็รู้เฉพาะสิ่งนั้น ตั้งมั่นในเสียง จิตก็รู้เฉพาะเสียงนั้น ตั้งมั่นในกลิ่น จิตก็รู้เฉพาะกลิ่นนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว สมาธิ ก็คือ เจตสิกหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าระดับขั้นของธรรม มีตั้งแต่อย่างเริ่มต้นนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมาก เช่น ปัญญาเริ่มเข้าใจเพียงเล็กน้อย ฟังอีกเข้าใจอีก ก็เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ถ้าตั้งมั่นในอารมณ์เดียว และก็หมด และก็หมด หลายๆ อารมณ์หลากหลาย สภาพของความตั้งมั่นก็ไม่ปรากฏ เราก็ไม่ใช้คำว่า สมาธิ แต่ถ้าจิตมันตั้งมั่นในอารมณ์เดียวมากพอที่จะปรากฏความตั้งมั่น เราก็บอกว่าเป็น สมาธิ อย่างบางคนกำลังอ่านหนังสือ คนอื่นมากวน รบกวน เขาก็บอกว่า เขากำลังอ่านหนังสือนะ เขาจะเสียสมาธิ ถ้าคนอื่นมาพูดเรื่องอื่น ก็ใช้ สมาธิ กัน โดยไม่รู้ตัวจริงของสมาธิ ว่าเป็นสภาพธรรมหนึ่ง เป็นเจตสิกหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต และก็ดับไปพร้อมจิต แต่ว่า ถ้าตั้งมั่นในอารมณ์ได้มากๆ นานๆ อาการของสมาธินั้นก็ปรากฏ แต่ว่าจิตที่เป็นกุศล ที่ดีงามก็มี จิตที่เป็นอกุศล ไม่ดีงามก็มี

        เพราะฉะนั้น สมาธิก็มีทั้งอกุศล และกุศล มิจฉา และสัมมา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญานะคะ ไม่รู้อะไรเลย แต่ต้องการให้จิตตั้งมั่น โดยทำสมาธิ ก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเหตุว่า ไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา แล้วทำสมาธิ จะเป็นสัมมาสมาธิได้ไหม เพราะขณะนั้น ไม่มีปัญญา ไม่รู้อะไร แต่มีความเป็นตัวตนที่ต้องการสงบ หรือตั้งมั่น ไม่ให้มีอารมณ์อื่น


    หมายเลข 11724
    17 ม.ค. 2567