ระดับของโลภะ


        ท่านอาจารย์ ไม่มีใคร ไม่รู้จักโลภะใช่ไหมคะ แต่คำนี้เป็นภาษาบาลี พอคนไทยมาได้ยินคำนี้ ก็คิดว่าโลภมาก ใช่ไหมคะ ได้ยินก็แหม ชั้นสูงเลย มาก เลย นิดๆ หน่อยๆ ไม่เห็นบอกว่าโลภเลย แต่พอใครแสดงอาการพอใจอย่างยิ่ง มากมายเกินปกติก็บอกว่าเขาโลภ เขาโลภมาก แต่ความจริงต้องรู้จักธรรมละเอียดอย่างยิ่ง โลภ โลภะเนี่ยคะ เป็นความติดข้อง เป็นความต้องการทุกระดับ ตั้งแต่เล็กน้อย แค่เห็นไม่รู้สึกตัวเลยว่า พอใจแล้วที่จะเห็น พอใจแล้วในสิ่งที่เห็น จริงรึเปล่า ทุกคำต้องไตร่ตรอง มิฉะนั้น ก็ไม่ต้องเห็นสิคะ ถ้าหมดความยินดีพอใจ แต่เห็นแล้ว ไม่รู้ตัวเลยว่าพอใจแล้วที่จะเห็น และพอใจแล้วในสิ่งที่เห็น นั่นคือ โลภะ สภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น มีตั้งแต่ระดับที่ละเอียดจนกระทั่งไม่ปรากฏให้รู้ น้อยมากเลย เดี๋ยวนี้ทุกคนกำลังมีโลภะ ฟังแล้วน่ากลัวไหมคะ แต่จริง ระดับไหน ระดับที่พอใจในสิ่งที่ปรากฏ ปฏิเสธได้ไหมเห็นดอกไม้ เห็นดอกมะลิ เห็นโต๊ะ เห็นอะไรทุกอย่าง หารู้ไม่ ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังติดข้อง กำลังมีจริงๆ เมื่อมีการเห็น เพราะฉะนั้น โลภะมีตั้งแต่อย่างละเอียด จนกระทั่งเห็นเป็นการทุจริตต่างๆ โดยการแสวงหาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ในทางที่ผิด ไม่สมควรอย่างนั้นทุกคนเห็นโทษใช่ไหมคะ แต่ว่าชีวิตวันๆ นึงแสนสบาย เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พอถึงหลับก็ไม่เหลือ แค่นี้ก็ไม่สามารถที่จะเตือนใครบอกใครให้คิดได้ แต่ลองคิด คิดได้หลายแบบ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีโลภะไหม ทรงมีความติดข้องไหม ทรงมีกิเลสแม้เพียงเล็กน้อยไหม แม้ฝัน กำลังฝัน หรือกำลังหลับสนิท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ฝันแน่ แต่หลับ ขณะนั้นต่างกันแล้ว กับคนซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ตื่นขึ้นมาก็ติดข้องทันทีแต่ผู้ที่ดับกิเลสหมด ไม่มีอะไรทำร้ายจิตใจได้ เพราะเหตุว่า ยังไม่มีการรู้สึกเลยนะคะ ว่าทุกวันนี้ลำบาก ทุรนทุราย มากน้อย เพราะโลภะ ความติดข้อง จนกว่าจะได้ฟังคำของพระองค์นะคะ ว่าสภาพธรรมที่ไม่ดีเนี่ย มีอะไรบ้างระดับไหนบ้าง และสามารถที่จะค่อยๆ ละคลายได้อย่างไร เพราะว่า เราไม่สามารถที่จะละสิ่งที่เราไม่เห็นโทษ ทุกคนมีความต้องการไม่รู้จบ เพราะไม่ เคยเห็นโทษของความติดข้องเลย แต่ต้องรู้ว่าความติดข้องมากๆ เนี่ย ก็ต้องมาจากความติดข้องเล็กๆ น้อยๆ เล็กน้อยทุกวัน มากไหมคะ สะสมไว้เยอะๆ ก็ปรากฏว่ามาก เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า หมดกิเลส อยากหมดไหม

        อ.อรรณพ โลภะเกิดก็อยาก

        ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะ ไม่พ้นความอยาก อยากไม่มีกิเลส หรืออยากมีกิเลส อยากเห็น อยากได้ยิน อยากสนุก อยากเพลิดเพลิน หรือบอกว่าไม่อยาก แต่ก็คือ อยาก เพราะฉะนั้น ไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเดียว เเล้วก็การที่เราจะค่อยๆ รู้ ว่าเรามีกิเลส มีความไม่รู้มากแค่ไหน ต่อเมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางรู้จักตัวเอง เกิดมานานเท่าไรแล้วแต่ละคน หลากหลายมาก ตามการสะสมสืบต่อในแสนโกฏกัป จนเป็นแต่ละหนึ่ง เดี๋ยวนี้ขณะนี้ และก็แต่ละหนึ่ง ในวันพรุ่งนี้ และแต่ละหนึ่ง ไปจนกว่าจะจากโลกนี้ไป พอจากโลกนี้ไป ก็มีปัจจัยที่จะเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งหลากหลายมากโดยตลอด โดยไม่รู้ความจริง

        เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเนี่ยนะคะ ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนเลย อย่าลืมนะคะ การฟังธรรม ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนเลย จะหมดกิเลสเนี่ย เดือดร้อนไหม ลองคิดดู จะ จะ จะหมดกิเลสเนี่ย เดือดร้อนไหม

        อ.อรรณพ จะหมดกิเลส ก็คือ อยากหมดกิเลส ก็เดือดร้อน เพราะความอยาก

        ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่อยากหมดกิเลส เพราะฉะนั้น พูดจริงๆ ค่ะ ทุกคนต้องตรง พระธรรมเนี่ย ถ้าไม่ตรงไม่ได้สาระ ตราบใดที่มีกิเลส แล้วจะไม่อยากมีกิเลส เป็นไปไม่ได้ ถูกต้องไหมคะ ตราบใดที่ยังมีกิเลส แล้วจะไม่อยากมีกิเลส เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าใครทั้งนั้น จะพูดว่ายังไงก็ตามแต่ แต่คนนั้นหน่ะ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองยังมีกิเลส บอกว่าอยากหมดกิเลส พูดไปสิ กำลังพูดนั่นแหละกิเลส ก็ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ ความตรงต่อธรรม จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น ต้องรู้เหตุของทุกอย่างที่เกิดขึ้น ว่าเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้เหตุ จะไปดับกิเลส จะไปดับเหตุได้ไหม เหตุให้เกิดกิเลสก็ไม่รู้ แล้วก็จะไปดับตัวกิเลสอยู่นั่นแหละ บางคนก็อยากถือศีล อยากเป็นภิกษุณี อยากบวช กิเลสหรือเปล่า

        อ.อรรณพ ไม่เห็นว่าเป็นกิเลส

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพวกเดียรถีย์ ขอให้คุณคำปั่น ช่วยให้ความหมายของ เดียรถีย์ ด้วยค่ะ

        อ.คำปั่น เดียรถีย์ ก็มาจากภาษาบาลีว่า อญฺญ ติตฺถิย หมายถึงว่า ผู้แล่นไปสู่ท่าอื่น ซึ่งก็คือ ไม่สามารถที่จะไปสู่หนทางที่จะเข้าใจความเป็นจริงของธรรมได้เลยครับ ก็เป็นพวกที่มีความเห็นอื่น ตรงข้ามกับความเห็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        ท่านอาจารย์ จะไปสู่ท่า เพื่อจะไปสู่อีกฝั่งใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น พวกนั้นนะคะ คิดด้วยตัวเองสามารถที่จะดับกิเลสโดยวิธีการต่างๆ แต่ว่า ไม่มีปัญญา แล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงมีผู้ที่ถือศีลในลัทธิอื่นมากมาย ไม่ว่าอดีต หรือว่าปัจจุบัน แต่ว่าไม่มีทางที่จะรู้จักกิเลส เพราะฉะนั้น อยากเท่าไหร่ ทำเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่าตัวเองมีกิเลส และกิเลสนั้นเกิดขึ้นได้ เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น เห็นได้เลยนะคะ ว่ากิเลสทั้งหมดเพราะไม่รู้ ไม่รู้ความจริง จึงติดข้อง จึงมีกิเลสมากมายเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ค่ะ ต้องเป็นผู้ที่ตรงอย่างยิ่งนะคะ ที่จะรู้ว่าใครก็ตามที่อยากจะหมดกิเลสโดยวิธีอื่น เหมือนพวกเดียรถีย์ในครั้งโน้น ที่ว่าพยายามหาหนทางที่จะหมดกิเลส แต่ไม่สามารถจะเป็นไปได้เลย เพราะว่า ไม่รู้ความจริงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญเพียรเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ กว่าจะได้รู้ความจริงไม่ใช่โดยการที่ไปอยากหมดกิเลส แต่ว่าเห็นความจริงว่า สิ่งที่มีขณะนี้มีจริงๆ สามารถค่อยๆ เข้าใจได้ แล้วเราค่ะ จะค่อยๆ เข้าใจมั้ย หรือว่าจะรีบร้อนไปสำนักปฏิบัติสักสิบวัน เจ็ดวัน เดือนนึง เพื่อที่จะไปหมดกิเลส เป็นไปได้หรือ ก็เหมือนพวกเดียรถีย์ ใช่ไหมคะ ที่ไม่รู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเนี่ยค่ะ แม้สิ่งที่กำลังมีจริง และคำสอนของพระองค์ทรงแสดงไว้ถึง ๔๕ พรรษา ทุกคำนำไปสู่ความเข้าใจถูก ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

        เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้องรู้ว่าฟังคำของใคร แต่ละคำเนี่ย ผู้ที่มีปัญญาระดับไหน ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ฟังซึ่งไม่รู้อะไรเลย แล้วจะไปคิดว่าเข้าใจได้ อ้างคำของพระองค์แต่ละคำ แต่ว่าไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจสิ่งนั้นเลย ความหมายของคำนั้นเลย คิดเองหมด เพราะฉะนั้น ผู้ฟังเป็นผู้ที่ตรวจสอบ แต่ละคำที่ได้ฟัง คำจริงเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำของใครเลยทั้งสิ้น แต่ว่าจากการที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว และผู้นั้นสามารถที่จะเข้าถึงความหมาย และความจริงของแต่ละคำ ก็สามารถที่จะเป็นมิตรกับคนอื่น เหมือนอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นกัลยาณมิตรที่สูงสุด ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับทุกคนที่ได้ฟังคำของพระองค์ คือ ความจริงซึ่งไม่สามารถที่จะรู้จากคนอื่นได้เลย เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูก ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า สัมมาทิฎฐิ ทิฎฐิ คือ ความเห็น สัมมา คือ ความถูกต้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง อีกคำ หนึ่ง ก็คือ ปัญญา ก็มีหลายคำนะคะ ญาณะ ตามระดับขั้นของปัญญาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งนิดหน่อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ด้วยการ ค่อยๆ เข้าใจ อบรมจากการเป็นพระโพธิสัตว์ฉันใด ผู้ฟังคำของพระองค์ก็เป็นสาวกโพธิสัตว์


    หมายเลข 11719
    22 ม.ค. 2567