ไม่ลบหลู่ แต่รู้ความจริง


        ลบหลู่คือไม่เคารพในคุณความดีที่มีจริงๆ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่จริงไม่มีเหตุ ไม่มีผล ก็ควรจะแสดงให้เข้าใจตามความจริง ซึ่งไม่ใช่ลบหลู่เลย


        ท่านอาจารย์ คนโง่เหาะได้ไหม ใครจะตอบ ต้องตั้งต้นถูกทุกคำ จากความเข้าใจของเรามั่นคงจริงๆ แล้วเป็นคนตรง เหาะได้ไหมคะคุณคำปั่น

        อ.คำปั่น ผู้ที่จะเหาะได้ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา อบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งคล่องแคล่ว และก็สามารถที่จะเป็นอย่างนั้นได้

        ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น คนโง่เหาะได้ไหม ต้องตรงตามคำตอบ ตามลำดับขั้น เพราะว่าแต่ละคำมีเยอะมาก ถ้าเราไม่เข้าใจทีละคำจริงๆ ทางผิดมีมาก เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนที่มั่นคง ทุกคนยอมรับว่า คนโง่เหาะไม่ได้ คนมีปัญญาเหาะได้ไหม

        ผู้ฟัง ได้ครับ เช่นพระพุทธเจ้า

        ท่านอาจารย์ ปัญญาระดับไหน ไม่ใช่แค่ใช้คำว่าปัญญาก็เหาะกันหมดละ ใช่ไหม แต่ปัญญาจริงๆ ระดับไหน ปัญญาคนที่สามารถที่จะระงับอกุศลได้ชั่วคราว จนกระทั่งจิตสงบมั่นคงถึงขั้นฌาน ตามลำดับขั้น ยังเหาะไม่ได้เลย คิดดู กว่าจะถึงการเหาะได้จริงๆ ต้องมีความรู้มากกว่านั้น มีความสงบมากกว่านั้น มีความสามารถมากกว่านั้น ไม่ใช่ว่าคนที่ได้ฌานแล้ว เหาะได้ทุกคน

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ได้ยินอีกคำหนึ่ง คือคำว่าลบหลู่ กลัวกันเหลือเกิน ไหนลองพูดสิ่

        อ.อรรณพ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

        ท่านอาจารย์ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ หมายความว่าให้เชื่อทุกอย่างเหรอ ผิดก็เชื่ออย่างนั้นเหรอ เห็นไหม เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรเปิดเผยให้เข้าใจถูกไหม แต่ถ้าสิ่งที่ผิดไม่เชื่อนะถูก ไปเชื่อสิ่งที่ผิดได้ยังไง เพราะฉะนั้นคำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ กลัวกันเสียจริง ไม่ตรง เพราะเหตุว่า ไม่เชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่การลบหลู่ เพราะเหตุว่าสามารถจะรู้ว่าอะไรถูก และอะไรผิด และกล่าวคำที่ถูกให้คนอื่นรู้ด้วยว่า ที่เชื่อๆ นั้นผิด มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการช่วยเหลืออนุเคราะห์ให้มีความเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่ากลัวแล้วก็บอกว่าที่พูดคำจริง เป็นคำลบหลู่ ไม่ใช่ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ หมายความว่าคนนั้นไม่รู้ หรือว่ารู้ ว่าผิด จึงไม่เชื่อ เห็นไหม ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ตรง ถ้าไม่เข้าใจธรรมจริงๆ จะไม่เป็นคนตรง แต่ถ้าเข้าใจธรรมจะรู้ว่าธรรม เปลี่ยนไม่ได้ ผิดไม่ได้ เฉไฉไม่ได้ และคำว่าลบหลู่ หมายความว่าอะไร สิ่งนั้นต้องมีคุณ แล้วไม่เห็นคุณ จึงลบหลู่ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ไม่มีคุณ แล้วเราพูดถึงความที่ไม่มีคุณ จะเป็นการลบหลู่ ก็ไม่มีคุณแล้วจะให้ไปบอกว่ามีคุณได้ยังไง ไม่มีคุณก็ต้องไม่มีคุณ ไม่ดีก็ต้องบอกว่าไม่ดี จะไปบอกว่าสิ่งที่ไม่ดีนั้นดีได้ยังไง

        เพราะฉะนั้นที่จะกล่าวว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ก็ต้องพิจารณาว่าไม่เชื่ออะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ดี การกล่าวถึงโทษ และความไม่ดีของสิ่งนั้น เป็นการลบหลู่สิ่งนั้นหรือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโทษของอกุศลทั้งหลายมากมาย ลบหลู่เหรอ สิ่งที่ไม่ดี และเป็นโทษ และกล่าวโทษ ชี้แจงโทษให้คนอื่นเห็นโทษ ไม่ใช่การลบหลู่ เพราะฉะนั้นอย่าใช้คำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะเหตุว่าต้องพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ถ้าสิ่งที่ผิดก็ไม่เชื่อ การที่ไม่เชื่อสิ่งที่ผิดไม่ใช่ลบหลู่ เพราะไม่ถูกจะให้เชื่อได้ยังไง แต่ถ้าสิ่งใดที่มีคุณ มีประโยชน์แล้วไม่เห็นคุณ ไม่เห็นประโยชน์ ลบหลู่สิ่งนั้น

        อ.อรรณพ ถ้ามีความเข้าใจก็กล่าวใหม่ว่าไม่ลบหลู่ แต่ไม่เชื่อ เพราะว่าเข้าใจความจริง แต่ถ้าเชื่อโดยที่ไม่มีเหตุ แล้วก็ปฏิเสธคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นก็คือหลงงมงาย แล้วก็ลบหลู่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะมีทางที่จะเข้าใจว่าอะไรจริงไหม กลัวไปซะหมด สิ่งที่ไม่ถูกก็กลัว แต่ก็ไม่กล้าจะพูดสิ่งที่ถูก เพราะอะไร เพราะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ถ้าเข้าใจจริง เห็นประโยชน์อย่างยิ่งว่าไม่มีอะไรที่จะเหนือกว่าความจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ควรพูด


    หมายเลข 11558
    24 ก.พ. 2567