ฟังธรรมซ้ำๆทำไม


        แม้จะฟังธรรมว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ แต่ปัญญาก็ยังไม่รู้ตามความจริงอย่างนั้น จึงต้องฟังธรรม และสนทนาธรรม ซ้ำๆ จนมีความเข้าใจมั่นคงเพิ่มขึ้น


        ท่านอาจารย์ ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จไปที่ใด พระองค์ตรัสเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหรือเปล่า ซ้ำไหม ถ้าไม่ให้พูดเรื่องนี้ จะให้พูดเรื่องอะไร กำลังเห็นแท้ๆ อย่างนี้ แล้วก็รู้ว่ายากแสนยาก กว่าที่จะรู้ตรงเห็น และเข้าใจเห็นจริงๆ ว่าเป็นธาตุรู้ ซึ้งไม่มีรูปร่างเลย สักนิดเดียวก็ไม่มี ที่จะเป็นแข็ง หรือเป็นเสียง หรือจะเป็นกลิ่นอะไร ลองคิดถึงธาตุนั้น เหมือนโลกนี้ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลยจริงๆ แต่มีธาตุรู้เกิดขึ้น ขณะนั้นจึงจะสามารถรู้ว่านี่แหล่ะ ความหมายของธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่เป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งนั้น ยังคงมีความสงสัยแน่นอน วิจิกิจฉา ในภาษาบาลี หมายความว่า ไม่แน่ใจว่าขณะนี้ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแค่ไหน เช่นเห็นกำลังมีแท้ๆ แล้วก็บอกว่าเห็นเป็นธาตุรู้ ฟังได้ภาษาไทย เข้าใจ แต่ความเป็นธาตุไม่ปรากฏ และความเป็นธาตุรู้ ซึ่งขณะนั้นต้องไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้นนอกจากธาตุรู้ แต่ละคำก็ลึกซึ้ง และก็ต้องค่อยๆ ชัดเจนขึ้น

        เราฟังแล้วก็ลืม แน่นอน ไม่ว่าจะฟังเช้า สายก็ลืม หรือพอจบวิทยุที่ฟัง ก็ลืม เป็นเรื่องอื่นทันทีไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย ค่ำ ดึก ลืมทั้งนั้น จึงต้องฟังอีกๆ ๆ เพื่อที่จะได้เป็นปัจจัยปรุงแต่ง ให้เข้าใจมั่นคงขึ้น เพราะว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ที่บอกว่าซ้ำซาก เข้าใจแค่ไหน ต้องซ้ำจนกระทั่งว่าเดี๋ยวนี้เห็น เป็นธาตุรู้ พูดไปอีกกี่ครั้งๆ ก็เพื่อที่จะให้ค่อยๆ เข้าใจเห็นที่กำลังเห็น เพราะขณะนี้มีเห็น ได้ยินว่าเห็นเป็นธาตุรู้ แต่ยังไม่ได้เข้าใจเห็น ที่กำลังเห็น กว่าจะถึงขั้นนั้น ต้องเป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นปฏิปัตติ

        คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นไปตามลำดับ ปริยัติ ฟังพระพุทธพจน์ คำของพระองค์ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ รอบรู้ในคำนั้นทุกคำ และก็สอดคล้องกันด้วย เช่นธรรม รอบรู้ว่าเป็นธรรม ก็ไม่มีเรา ถ้ารอบรู้จริงๆ ไม่มีเราแล้วเป็นอะไร ก็สามารถที่จะกล่าวถึงได้แต่ยังไม่ถึงขณะนี้เดี๋ยวนี้ เพียงแต่เอ่ยชื่อ ถ้ากล่าวถึงจิต พูดได้ จิตมีเท่าไหร่ กี่ประเภท แต่ยังไม่ถึงจิตเดี่ยวนี้ ซึ่งกำลังเกิดดับ ทำกิจเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เพียงแต่ว่ากำลังพูดเรื่องราวของจิต พูดถึงเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิต โลภะก็มี พูดถึงโลภะมีตั้งหลายชื่อ อาสา ความหวัง ก็เป็นโลภะ ต่างๆ เหล่านี้ให้เรามีความเข้าใจถูกต้องว่า แม้เพียงหวัง โลภะแล้ว แค่หวังนิดเดียวก็โลภะแล้ว การที่เราพูดถึงสิ่งนี้บ่อยๆ มีสิ่งนี้ทั้งวันตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไม่เคยรู้

        ฟังเพื่อให้ถึงสภาพที่กำลังมีขณะนั้น เป็นความเข้าใจที่มั่นคง ว่านั่นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม จากปริยติ ซึ่งรอบรู้ และสอดคล้องกันทั้งหมด ก็จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น เป็นปฏิปัตติ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่าไปปฏิบัติธรรม แต่ความจริงต้องเป็นปัญญา ซึ่งอาศัยการฟังแล้วเข้าใจในความเป็นอนัตตา ถ้าในความเป็นอนัตตา ไม่ได้หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย จะไปไหนล่ะ ไปทำไม นั้นหวังล่ะ แต่ว่าโดยความเป็นอนัตตา ถ้ามีความเข้าใจที่สามารถจะถึง การรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปฏิปัตติ ก็ต้องโดยความเป็นอนัตตา

        เพราะฉะนั้นหนทางนี้เป็นทางไปสู่ความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราโดยตลอด ฟังธรรมเพื่อละ เพื่อละความไม่รู้ ซึ่งทำให้เกิดความต้องการ และความยึดมั่นว่าเป็นเรา อีกคำหนึ่งของภิกขุ คือผู้ที่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อดับกิเลส ถูกต้องไหม มิฉะนั้นจะเป็นภิกขุทำไม

        ผู้ฟัง การอ่านหนังสือธรรม คำแต่ละคำ เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้หมดถ้ามาสนทนาธรรม จากท่านอาจารย์หรือวิทยากร จะได้ความรู้มากขึ้นอีกโขเลย

        ท่านอาจารย์ การอ่านหนังสือ เข้าใจตรงนี้ เท่าที่ได้ทรงแสดงไว้ตรงนี้ และก็อ่านต่อไปอีก ก็เจอความหมายที่กว้างขวางออกไปอีก ของคำที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น ยิ่งอ่านมาก ยิ่งเข้าใจมาก ทันทีที่ได้ยิน ได้ฟัง ก็รู้ความลึกซึ้งของคำนั้น เราไม่สามารถที่จะกล่าวถึงพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา หรือว่าแม้แต่พระสูตรเดียว โดยความละเอียดอย่างยิ่ง เพียงในเวลาที่จำกัด

        แต่จากการที่ได้ฟังตรงนี้ เข้าใจตรงนี้ พอไปพบข้อความอื่น ขยายความเข้าใจตรงนี้ให้ละเอียด และกว้างขวางลึกซึ้งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรู้ว่าเพียงแค่เล็กๆ น้อยๆ นี่ไม่พอ ต้องมากกว่านี้อีก คำใดที่ได้ตรัสไว้แล้ว ถึงแม้ว่าจะได้ยินไม่บ่อย แต่มีความเข้าใจมั่นคง เพราะเคยได้ฟังมาจนกระทั่งมั่นคงว่า พอพูดถึงธรรมก็คือ ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะอ่านข้อความในพระสูตรทั้งหมด เรื่องของใครทั้งหมดก็ตาม ธรรมทั้งนั้น เป็นแต่ละธาตุ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงธรรมใด การฟังบ่อยๆ ก็ทำให้มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ลืม


    หมายเลข 11532
    27 ก.พ. 2567