ลักษณะของสภาพรู้ 2


        ผู้ถาม จะถามถึงลักษณะ

        สุ. ลักษณะเห็นไงคะ สภาพที่สามารถเห็น รู้ว่าขณะนี้สิ่งนี้กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ๆ ไม่เป็นอย่างอื่น สีสันวัณณะขณะนี้ที่กำลังปรากฏๆ ให้เห็นสามารถเห็น สภาพที่สามารถเห็น นั่นคือลักษณะของสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วไม่รู้อะไรเลย สามารถคิด ขณะที่กำลังคิดก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังรู้คำ รู้เรื่อง หรือสามารถที่จะจำลักษณะสัณฐานต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นสภาพรู้ โต๊ะ เก้าอี้ แข็งอ่อน เย็นร้อน ไม่ได้จำอะไรเลย แต่ขณะใดที่จำ ขณะนั้นก็เป็นสภาพของนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ขณะที่ขุ่นเคืองใจมีจริงๆ ลักษณะนั้นก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นนามธรรมก็มีลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งต้องเกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่นเลย เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิตๆ รู้สิ่งใด เจตสิกก็รู้สิ่งนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่เดียวกัน และก็ดับพร้อมกันด้วย

        ผู้ถาม ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ท่านอาจารย์บอกเห็น ดิฉันก็เห็นจริงๆ แต่มันไม่เข้าถึงลักษณะตรงที่เห็น

        สุ. ก่อนอื่นต้องเข้าใจตามลำดับ เห็นมี ถูกต้องไหม แต่ยังไม่รู้ลักษณะเห็น นี่คือความถูกต้อง แต่รู้ว่ามี เพราะฉะนั้นผู้ที่สามารถประจักษ์ลักษณะของเห็นต้องมีเพราะว่าเห็นมีจริงๆ นี่แสดงให้เห็นว่ากว่าจะดับกิเลสได้โดยการที่ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องอาศัยกาลเวลาที่นานมากเพราะเหตุว่าไม่รู้มานานแสนนานที่จะให้เกิดรู้เข้าใจได้ทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้เห็น กำลังเห็น ก็ยังต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจจนกว่าจะถึงด้วยสติสัมปชัญญะตรงลักษณะที่เห็นในสภาพที่เป็นเพียงสภาพรู้

        ผู้ถาม มันเข้าใจยากท่านอาจารย์

        สุ. ถูกต้องค่ะ

        ผู้ถาม เข้าใจยากมาก

        สุ. ถ้าง่ายก็เป็นพระโสดาบันเร็ว ถ้าไม่อาศัยการฟังเลยจะเข้าใจคำว่า “นามธรรม” ว่ายังไง

        ผู้ถาม ก็คงไม่เข้าใจ

        สุ. ค่ะ แต่เมื่อฟังแล้ว เริ่มเห็นความต่างของรูปธรรม และนามธรรม ด้วยขั้นฟัง ว่าต้องมีสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรมนี้แน่นอน แม้มีจริงๆ เกิดดับอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ความจริงๆ ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริง นี่คืออวิชชา เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำว่า “อวิชชา”ๆ ไม่รู้อะไร ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย กำลังไม่รู้ลักษณะที่กำลังเห็นนี่แหละคืออวิชชา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ไม่สามารถที่จะแทงตลอดได้จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น กว่าจะคลายจนกระทั่งประจักษ์การเกิดดับของเห็น และการเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจหรือไม่เข้าถึงทุกขอริยสัจ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233


    หมายเลข 11524
    23 ม.ค. 2567