อารมณ์ของสติ ๒


        ผู้ฟัง เพราะสติ และปัญญายังไม่ถึง ตรงนี้ใช่ไหมครับที่ทำให้เราระลึกไม่ถูก

        ท่านอาจารย์ คือต้องเริ่มรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ นี่เป็นปัญญาที่รู้ในขณะนั้น ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ผม มีไหมคะ

        คือต้องเริ่มรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ นี่เป็นปัญญาที่รู้ในขณะนั้น ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ผม มีไหมคะ ไม่มี เพราะฉะนั้น เพราะมีปรมัตถธรรม จึงมีความทรงจำในรูปร่างสัณฐานว่าเป็นผม

        สำหรับสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานสูตรครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา แสดงให้เห็นว่าไม่เว้น ถ้าใครอบรมเจริญสมถะมา ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ต้องรู้สภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เป็นการทรงจำเรื่องราวของสภาพธรรมะ ถ้าเป็นสมถภาวนา จะมีการระลึกถึงผมในลักษณะต่างๆ เพื่อสงบจากความติดข้องในผมแต่ว่าไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่รู้ในความเป็นปรมัตถธรรมในขณะนั้น เพราะเหตุว่ายังมีความคิด ยังมีความจำในผม

        เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นผมไม่มี แต่มีปรมัตถธรรม ถ้ายังคงยึดมั่นในผมอยู่ ก็เหมือนยึดมั่นในคน ในวัตถุ ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วขณะที่จะจำผม ก็จะมีการนึกถึงคำว่า “ผม” ขณะที่กำลังนึกถึงคำว่า “ผม” ขณะนั้นไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ว่า ขณะที่คิดเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นบุคคลผู้นั้นที่คิดคำว่า “ผม” แล้วถ้าคิดต่อไปว่าผมไม่เที่ยง ขณะนั้นก็เป็นบุคคลนั้นเอง เป็นนามธรรม แต่ไม่รู้ในความเป็นนามธรรม

        เพราะฉะนั้น ก็มีตัวบุคคลนั้นที่คิดว่า “ผม” ไม่เที่ยง แล้วก็ลองถามผู้ที่คิดว่าผมไม่เที่ยงซิคะ เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ ขณะที่คิดเขาไม่รู้หรอกว่า ที่คิดแต่ละคำเป็นนามธรรมที่คิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นตัวตนที่กำลังคิดเรื่องผมไม่เที่ยง

        วันนี้ใครคิดถึงเรื่องผมบ้างไหมคะ หรือไม่มีใครคิดเลย ต้องมี ใช่ไหมคะ ขณะไหนก็ตามที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะ ขณะนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าถ้าคิดว่าเป็นผม ปัญญาจะรู้อะไร แต่ทุกคนก็คิดถึงผม แต่เมื่อคิดถึงผม แล้วขณะนั้นความจริงคืออะไร ความจริงคือนามธรรมที่มีผมเป็นอารมณ์ จะคิดถึงผม แต่ขณะนั้นจะระลึกลักษณะที่อ่อน หรือที่แข็งที่เป็นผม หรือว่าระลึกลักษณะของจิตที่กำลังคิดถึงผมก็ได้ สิ่งใดที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้น

        ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สิ่งใดก็ตามที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เป็นตัวตน สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ในขณะนั้น จึงสามารถที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไมใช่บุคคล มิฉะนั้นเราเรียนปรมัตถธรรมทำไม ทำไมเราต้องให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมะเป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง ยังไม่พอ เรายังใช้คำว่า ปรมัตถธรรมะด้วย ให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะได้เลย จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป นิพพานเป็นนิพพาน เราเรียนสิ่งใดก็เพื่อที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ ความจริงได้ ทั้งๆ ที่ชีวิตของเราก็มีรูปเยอะแยะ แล้วก็มีคำต่างๆ ที่ใช้เรียกสิ่งที่เป็นรูปต่างๆ เป็นผมบ้าง เป็นขนบ้าง เป็นเล็บบ้าง เป็นฟันบ้าง เป็นหนัง เป็นตับ ปอด หัวใจ เราก็ใช้ทั้งนั้นเลย คำที่จะเรียกลักษณะของรูปต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นรูปจริงๆ ซึ่งเอาชื่อออกไปหมดเลย ลักษณะสภาพธรรมะนั้นเป็นปรมัตถธรรม ที่ศึกษาปรมัตถธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริง แล้วปอดมีไหม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม หัวใจมีไหม เลือด กระดูกมีไหน ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือปรมัตถธรรม เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะนึกถึงในรูปร่าง หรือว่านึกถึงสมมุติบัญญัติต่างๆ คำต่างๆ ให้รู้ว่าหมายความถึงสิ่งใด แต่ปัญญาที่จะประจักษ์การเกิดดับ ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดถึงผม แล้วก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นปรมัตถธรรม คือ จิตที่คิด เพราะว่าจิตนั้นคิดถึงผม แล้วก็ดับ แล้วแต่จะคิดถึงอะไรอีก แล้วก็ดับ นั่นก็คือ การที่เข้าใจความหมายของปรมัตถธรรม

        การศึกษาธรรมะต้องตรงตั้งแต่ขั้นต้น ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ถ้าศึกษาปรมัตถธรรม ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่บัญญัติ


    หมายเลข 10403
    9 ม.ค. 2567