เพื่อปัญญาที่รู้ถูก


        อ.กุลวิไล เรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร ที่พิจารณากายในกาย ท่านแสดงไว้ว่าทุกบรรพทั้ง ๑๔ บรรพ ก็ไม่พ้นรูปที่ปรากฏที่กาย จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า บรรพที่เป็นปฏิกูลบรรพ ที่บอกว่าพิจารณาเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นปฏิกูล ถ้าโดยสภาพธรรมะ แล้ว ถ้าหากว่าเป็นรูปที่ปรากฏที่กาย ก็ไม่พ้นธาตุทั้ง ๓ ก็คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า พิจารณาเกี่ยวกับรูปที่กาย พิจารณากายในกาย โดยความเป็นปฏิกูล ที่จะเห็นว่าความเป็นรูป

        ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงมหาสติปัฏฐาน ชื่อก็บอกอยู่ แล้ว มหา มากมายกว้างขวงครอบคลุมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครกำลังคิดถึงผม ขณะนั้นจริงหรือเปล่า กำลังคิดถึงผมจริงไหมคะ จริงนะคะ ขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรมอะไร

        อ.กุลวิไล สภาพที่คิดเป็นจิต

        ท่านอาจารย์ สภาพที่คิดเป็นจิต ใช่ไหมคะ แล้วผม มีไหมคะ ที่คิดถึงผม คิดถึงอะไร โดยการสัมผัส หรือโดยการเห็น ถ้าโดยการเห็นก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงอย่างนี้ในพระอภิธรรมหรือเปล่า ทางตามีสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้น

        เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงก็ต้องตรงตามที่ศึกษา ถึงจะเห็นว่า เป็นผม คิดว่าเป็นผม นึกถึงผม แต่ว่าตามความเป็นจริงก็ต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะที่กำลังเห็น หรือว่าในขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ลักษณะที่ปรากฏทางกาย เพราะว่าการที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏทางกายได้ก็ต้องกระทบสัมผัส ในขณะที่กระทบสัมผัส แล้วเคยเข้าใจว่าเป็นผม แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือ นามธรรมกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง จึงจะไม่ใช่เรา การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะว่า เป็นธรรมะ ก็คือไม่ใช่เรา ก็ต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นลักษณะของปรมัตถธรรมอะไร

        อ.กุลวิไล ต้องเห็นความเป็นปฏิกูล ขณะนั้นก็มีสภาพความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

        ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะรู้สึกปฏิกูล หรือรู้สึกเพลิดเพลินสวยงามดีก็ แล้วแต่ ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงวาระของจิตที่จะเกิด แต่เมื่อสิ่งใดเกิดมีจริงสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะนั้นๆ ตามความเป็นจริง

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยนัยยะที่กำลังท่องบ่นที่จะเป็นสมถภาวนา ที่จะให้จิตสงบ หรือว่าลมหายใจ หรืออะไรก็ตามแต่ทั้งหมด สติปัฏฐาน ก็คือสติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อปัญญาจะได้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา แล้วก็จะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมะที่เกิดดับ มิฉะนั้นก็ไม่มีหนทางที่ประจักษ์ทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นการเกิดดับของสภาพธรรมได้


    หมายเลข 10408
    9 ม.ค. 2567