กำหนดรู้ทุกข์


        ผู้ฟัง ถามว่าการกำหนดรู้ทุกข์ กับการที่กำหนดรู้ความเกิดดับ เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะเรียกว่า การกำหนดรู้ทุกข์

        ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีทุกข์หรือเปล่าคะ มี แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นทุกข์ ทุกข์อะไร คะ ทุกข์ที่นี้หมายความถึงการเกิดขึ้น และดับไป ของอะไร ต้องเป็นของสภาพธรรมะ เพราะฉะนั้น ต้องรู้สภาพธรรมะก่อน แล้วรู้ให้ทั่ว รู้ให้รอบ รู้ให้หมด จะรู้อย่างไร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรมะแต่ละลักษณะจนกว่าจะเป็นธรรมจริงๆ รอบรู้ รู้รอบหมดในลักษณะที่เป็นลักษณะของนามธรรมนั้นๆ รูปธรรมนั้นๆ อย่างความติดข้องมีลักษณะหลายอย่าง เวลาที่โลภะเกิด จะเป็นความติดข้องในลักษณะใด เป็นความต้องการ เป็นความหวัง หรือว่าเป็นอะไรก็ แล้วแต่ที่มีอยู่เป็นประจำในขณะนี้ รู้รอบในสิ่งนั้นหรือยัง แต่รู้รอบที่นี่ไม่ใช่ไปคิด แต่มีสติสัมปชัญญะที่ระลึกสิ่งนั้นจนรู้รอบจริงๆ ว่า สิ่งนั้นเป็นรูป หรือว่าสิ่งนั้นเป็นนาม ไม่ใช่เพียงแต่เราไปจำชื่อต่างๆ แล้วเราก็คิดว่า นี่เป็นการรู้รอบ หรือว่ารอบรู้ในลักษณะของสภาพธรรมะนั้น แต่ต้องมีสติสัมปชัญญะที่มีตัวจริงของธรรมะที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ รู้ธรรมะจนรู้รอบจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมะนั้นจนหมดความสงสัย ในสภาพที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จึงจะเป็นนามรูปปริเฉทญาณเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะเป็นญาตปริญญา เป็นเครื่องแสดงถึงการที่สติปัฏฐานเริ่มเกิด เริ่มระลึก เริ่มศึกษาลักษณะของสภาพธรรมะจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น แต่อะไรจะเป็นเครื่องวัดว่า รู้ แล้ว หรือว่ารู้รอบ แล้ว ก็ต้องเป็นขณะที่นามรูปปริเฉทญาณเกิดทางมโนทวาร สภาพธรรมะปรากฏโดยการขาดจากกัน นามธรรม และรูปธรรมปรากฏเป็นลักษณะของสภาพธรรมะแต่ละอย่าง ทีละอย่าง เมื่อนั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่เป็นนามรูปปริเฉทญาณจึงจะเป็นญาตปริญญา แต่ยังไม่ใช่ประจักษ์การเกิดดับ ซึ่งเป็นทุกขลักษณะซึ่งจะต้องเป็นถึงขณะที่เป็นญาณขั้นที่สูงขึ้น คือ อุทยัพพยญาณ แต่ก่อนอุทยัพพยญาณ ก็จะต้องมีตีรณปริญญา เพราะว่าปริญญา เป็นการแสดงว่า ปัญญาได้ถึงระดับที่มีความรู้จริงๆ ปรากฏจริงๆ ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่ก็ยังไม่พอ ยังจะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมะต่อไป

        เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่มีวันหยุด ไม่มีวันพอ แล้วก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้น เป็นเพียงขั้นคิด หรือว่าเป็นขั้นที่มีสภาพธรรมะปรากฏ และสติปัฏฐานก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะนั้น ปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ได้หลงลืมสติ แต่สติกำลังรู้ลักษณะต่างๆ ของสภาพธรรมะจนกว่าจะละคลายเพิ่มขึ้น การประจักษ์การเกิดดับจึงจะมีได้ แต่ไม่ใช่การที่เราไปกำหนดเอาว่า นี่เกิด แล้วก็นี่ดับ นั่นเป็นความคิด แต่ไม่ใช่เป็นปริญญา หรือว่าไม่ใช่เป็นวิปัสสนาญาณ

        คุณอดิศักดิ์ เรื่องชื่อ อาจารย์พิพัฒน์ก็คงจะได้ชื่อมา ถ้าว่ากันตามลำดับ ก็คือว่าไปได้คำมาว่า กำหนดรู้ทุกข์ พอเอาชื่อขึ้นมาก่อน ถ้าตราบใดสติไม่เคยเกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่สามารถเข้าใจคำว่า กำหนดรู้ทุกข์ได้ แล้วก็มีคำต่อไปอีก พระพุทธองค์ก็ยังมีคำว่า ญาตปริญญา

        เพราะฉะนั้น การเรียนธรรมะ ถ้าเรียนจากชื่อตรงนั้นมา แล้ว ไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจธรรมะได้ จะเข้าใจธรรมะต้องสติเกิด แล้วรู้ว่า หลงลืมสติเป็นอย่างไร จึงจะรู้ว่ากำหนดรู้ทุกข์คืออะไร ถ้าไม่อย่างนั้น กำหนดรู้ทุกข์ อาจารย์พิพัฒน์ก็คงจะได้แต่ชื่อไปอยู่อย่างนี้จนตลอดชีวิต ผมมีความรู้สึกอย่างนั้น เพราะผมเอง ผมศึกษาจากสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ ส่วนคำพระพุทธองค์ท่านจะว่าอย่างไร หรือว่าผู้ที่แปลจากบาลีไปใช้คำว่ากำหนดรู้ทุกข์ก็ดี หรือว่าตีรณปริญญา จนเดี๋ยวนี้มีบางแห่งไปใช้คำว่า ทำปริญญา ทำปริญญา นี่ต้องทำปริญญา นี่ต้องทำปริญญา ฟังดู แล้วเป็นเรื่องตัวตนทั้งนั้นเลย แม้กระทั่งคำว่า กำหนดรู้ทุกข์ ที่อาจารย์พิพัฒน์พูดเมื่อกี้เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องจะทำทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ สติเกิดระลึกรู้ในสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ กับการหลงลืมสติแตกต่างกันอย่างไร เราจะรู้ลักษณะของสติ และปัญญาได้ดีขึ้นกว่าที่เอาชื่อขึ้นมา แล้วมาเรียนกันอย่างนี้ เท่าที่ผ่านๆ มาเป็นอย่างนี้ ลำบากเลย สำหรับพวกที่เรียนชื่อมา

        ท่านอาจารย์ ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่า แต่ละอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่งมากมาย หรือปัจจัยอะไรบ้าง แต่ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เลย อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า สภาพธรรมะในขณะนี้เป็นอะไร ไม่ใช่เราอย่างไร แล้วเกิดขึ้นเพราะอะไร

        เพราะฉะนั้น โอกาสของชาติหนึ่งที่มีโอกาสได้ฟังธรรมะ คือ สิ่งที่มีอยู่จริง แล้วถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง สัตว์โลกไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสเข้าใจถูกต้อง แค่นี้ก็เป็นเริ่มต้นของศรัทธา ซึ่งจะเริ่มมั่นคงในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังว่า สิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังทั้งหมด เมื่อเทียบกับความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะสอนได้ เราก็ต้องเกิดความยินดีที่รู้ว่า สิ่งนี้เป็นลาภอันประเสริฐ คือมีศรัทธาที่มั่นคง ค่อยๆ มั่นคงขึ้นในการเห็นประโยชน์ของการฟัง แล้วถ้าฟังครั้งนี้เพียงครั้งเดียว กลับไปไม่ฟังอีกเลย เป็นไงคะ มีโอกาสที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันต่อไปอีกหรือไม่ ไม่มีเลย

        เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นประโยชน์ ก็ฟังเพิ่มขึ้นบ่อยๆ ผู้ที่มีปัญญาอย่างท่านพระสารีบุตร เมื่อได้ฟังเพียงกถาสั้นๆ ท่านก็สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ รู้แจ้งอริยสัจธรรม แสดงว่าแต่ก่อนนี้ท่านไม่เคยฟังเลยหรืออย่างไร หรือว่าถอยไป กว่าจะได้เป็นท่านพระสารีบุตร ท่านฟังมากแค่ไหน เป็นพหุสูตรทุกท่าน พระโสดาบัน หรือพระอริยบุคคล ต้องเป็นพหุสูตร ต้องเป็นผู้ที่ฟัง ไตร่ตรอง เข้าใจสภาพธรรมะ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงมี ๓ ขั้น คือ ปริยัติศาสนา เรื่องราวที่เรากำลังได้ฟัง ได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมะ แต่ก็รู้ว่าไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาขั้นนี้ ยังมีความเป็นเราที่ฟัง ยังมีความเป็นเราที่คิด ยังมีความเป็นเราที่ทำกุศล หรืออกุศลใดๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเราทั้งนั้น แต่ว่าการไตร่ตรองธรรมะยิ่งขึ้น เข้าใจขึ้น เห็นประโยชน์ ฟัง แล้วไม่ละเลย แล้วการฟังไม่ได้หมายความเฉพาะฟังเท่านั้น หนังสือหรือการอ่านพระธรรมที่ได้พิมพ์ แล้วเป็นตัวอักษร ก็เหมือนกับการฟัง เพราะไม่ใช่กระดาษเปล่า แต่ว่าไม่ว่าใครจะเห็นกระดาษที่มีข้อความใดก็ตาม เหมือนมีเสียงอยู่ด้วย ข้าพเจ้าได้สดับมา แล้วอย่างนี้ จากข้อความในปุริสสสูตร ข้าพเจ้าเป็นเสียง หรือเปล่า แม้ว่าในขณะที่เห็น กำลังเห็น แต่ใจตรึกนึกถึงคำ ซึ่งต้องเป็นเสียง สัญญาความจำ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็นึกถึงความหมายซึ่งเป็นคำด้วย จึงสามารถเข้าใจได้

        เพราะฉะนั้น การฟังไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเพียงขณะที่ฟัง การอ่าน การสนทนาธรรม การไตร่ตรอง เพราะเหตุว่าแม้ในครั้งอดีต พระสาวกซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นพระอรหันต์ แล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องดับกิเลสเลย แต่ท่านก็สนทนาธรรม ถ้าท่านเป็นผู้รู้ แล้ว เป็นพระอรหันต์ ท่านจะต้องสนทนาธรรมกับใครไหม ลองคิดดู ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมะว่าลึกซึ้ง พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น แม้พระอรหันต์หมดกิเลส แล้วก็จริง เป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ ก็จริง ท่านเป็นผู้รู้ความจริงว่า ปัญญาของท่านไม่เท่าปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านฟังเพื่อเป็นผู้เก็บรักษาพระธรรมที่จะให้สืบต่อไป แล้วท่านสนทนาธรรมกันด้วย เพราะเหตุว่าแต่ละท่านก็เป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ ไม่ใช่ว่ารอบรู้ไปหมด สัพพัญญู หรือว่าสัพพัญญุตญาณอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

        เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าการฟังธรรมะ เพียงฟัง ทั้งอ่านด้วย สนทนาธรรมด้วย ที่จะทำให้มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง นี่เป็นสุตตมยญาณ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง จินตามยญาณ ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาไตร่ตรอง มีความเข้าใจถูกขึ้น มีความมั่นคงในการที่จะศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่ว่าจะต้องถึงระดับขั้นที่สามารถประจักษ์ความจริงตรงตามที่ได้ทรงแสดงทุกอย่าง แม้แต่เพียงคำที่เราบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ จริงสำหรับเราหรือยัง หรือว่าได้ยินได้ฟังมาว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่เราก็สงสัย นั่นเป็นธรรมะหรือเปล่า นี่เป็นธรรมะหรือเปล่า จนกว่าจะรู้ขั้นการฟังจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ ก็ยังไม่หมดความสงสัย เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง

        เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะถึงระดับสูงสุดที่จะให้ ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง


    หมายเลข 10410
    9 ม.ค. 2567