สัญญาที่ทรงจำไว้
เรณู การระลึกรู้เวทนา เวทนาภายนอก คือขณะที่เรารู้ว่าผู้อื่นกำลังโกรธ ความโกรธของบุคคลอื่นนั้น เป็นเวทนาภายนอกใช่หรือไม่ แล้วเวทนาภายในคืออะไร แล้วสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะระลึกรู้เวทนาภายนอกและภายในได้อย่างไร
ส. ขณะนี้มีคน ใช่ไหมคะ เมื่อไรคะที่ว่ามีคน เมื่อเห็น รูปร่างสัณฐานอย่างนี้เป็นคน รูปร่างสัณฐานอีกอย่างหนึ่งเป็นนก ใช่ไหมคะ ไม่ใช่คน แต่เป็นนก เพราะรูปร่างสัณฐานต่างกัน
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการคิดนึกเรื่องรูปร่างสัณฐานต่างๆ ขณะนั้นก็จะเห็นได้เลยว่า มีนกเพราะว่าจิตคิดถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งความจริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น ในขณะนี้มีแต่คน ถ้าเกิดจะมีแมวสักตัวหนึ่งที่นี่ ทุกคนจะบอกว่าแมวนั้นเป็นคนหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกันหมด เวลาที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคิดถึงแมว เพราะรูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่ง เพราะคิดถึงคนก็รูปร่างสัณฐานอีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การที่จะคิดถึงคนกำลังร้องไห้ ก็ไปคิดถึงความรู้สึกของคนที่ร้องไห้ว่า เขาต้องเศร้าโศกเสียใจ ก็เป็นเรื่องความคิดนึกที่เกิดจากการเห็น แล้วก็ปรุงแต่งให้เป็นการคิดถึง ไม่ใช่แต่เฉพาะรูปร่างสัณฐานเท่านั้น แต่ก็ยังไปคิดนึกถึงความรู้สึก ของสิ่งที่เราเข้าใจว่า เป็นคน หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ด้วย ที่กล่าวว่าเป็นภายนอก แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีจิตคิด เวทนาภายนอกมีไหม คนมีไหม อย่างอื่นก็ไม่มีเลย
เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎกลึกลงไปอีก ก็คือว่าทุกคน จริงๆ แล้วอยู่ผู้เดียว ไม่มีคนอื่นเลยถ้าไม่คิด มีสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาจริง แล้วก็มีความคิดว่า เป็นคนนั้นคนนี้ด้วย แล้วทรงจำไว้ไม่ลืม ไม่เคยลืมเลย จนกว่าจะมีการระลึกได้ว่า เมื่อเห็นขณะใดก็เพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง จนกว่าจะลอกความทรงจำว่า เป็นอัตตสัญญา เป็นบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ ออก จึงสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ทั้งหมดของสติปัฏฐานก็คือสภาพธรรมะที่เป็นปรมัตถธรรมเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะมีอารมณ์อะไร จะแสดงในบรรพไหน ก็หมายความว่า เคยเป็นสิ่งนั้น เคยคิดถึงเวทนานั้น ๆ เคยคิดถึงเรื่องนั้นๆ แล้วก็ในขณะที่คิดนั้นเองก็ต้องมีเข้าใจที่ถูกต้องด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นชั่วขณะที่จิต ๑ ขณะเกิดแล้วก็คิด
เพราะฉะนั้น จะมีคนจริงๆที่เที่ยงจากไหน ถ้าไม่ใช่จากความคิดอย่างเดียว เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ เหมือนกับที่เคยกล่าวถึงสภาพลักษณะของจิตจริงๆ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างสีสันเลย เพราะฉะนั้น จะมืด หรือจะสว่าง จิตไม่ใช่สีสันวัณณะ ไม่ใช่แสงสว่าง ไม่ใช่สีอะไรเลยทั้งสิ้น สภาพรู้หรือธาตุรู้ มืดหรือสว่าง ถ้าไม่ประจักษ์ลักษณะของจิต ก็เพียงแต่กล่าวว่าจิตมีราคะ จิตทีโทสะ แล้วก็ระลึกลักษณะของจิต แต่ว่าลักษณะของจิตแท้ๆ จริงๆ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนทั้งสิ้น เป็นแต่ธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้เลย ถ้าเอาสีสันออกจากโลกหมดเลย เอาเสียง เอากลิ่น เอารส เย็น ร้อน อ่อน แข็งออกหมด ไม่มีเลยสักอย่างเดียว แต่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ นั่นคือลักษณะจริงๆ ของจิต ซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เจือปนเลย ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในลักษณะของจิตเลย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เมื่อฟังธรรมะแล้ว ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรอง แม้แต่มหาสติปัฏฐานสูตร ที่จะกล่าวถึงภายในภายนอกต่างๆ ถ้าไม่เคยมีความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะไม่มีการที่จะให้ระลึกในขณะที่กำลังมีความทรงจำอย่างนั้น แต่เพราะเหตุว่าเราเคยทรงจำไว้ว่ามีคน แล้วก็มีเวทนาต่างๆ ของคนนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อเคยทรงจำไว้อย่างไร ที่จะละความทรงจำนั้นให้หมด ไม่เหลือความเป็นคน หรือความเป็นเวทนาภายนอก หรือคนอื่นเลย ก็คือต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมะตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงก็มีธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาสั้นมาก ทางหูสั้นมาก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายสั้นมาก แต่ทางใจทรงจำไว้อย่างแน่นหนามั่นคง ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรปรากฏ ยังนึกจำเป็นเรื่องที่เป็นบุคคลต่างๆ อย่างมั่นคงได้ เพราะฉะนั้น ความจริง คือ ต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งละความสำคัญว่ามีคน หรือว่ามีเวทนาของบุคคลอื่นๆ ด้วย