อารมณ์ของสติ ๑


        ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ อาจารย์ช่วยขยายความด้วยครับ จิตที่รู้อารมณ์ อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้ อย่างเช่นว่า คำว่า จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้ง มันไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้สติน้อมไปถึง อันนี้แหละครับที่อยากจะให้ท่านอาจารย์บรรยายขยายความเรื่องนามธรรม เป็นรูป เป็นนาม มันยังไม่พอ แต่สติจะน้อมไป หรือจิตจะน้อมไป

        ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นพอรู้ว่า ธรรมะคืออะไร แล้วก็ยังรู้ว่า ธรรมะหลากหลายมาก มีมากมาย แต่ว่าถึงจะมากมายอย่างไร ก็มีลักษณะของสภาพธรรมะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท อันนี้คือการเริ่มต้นหรือตั้งต้น ที่จะรู้ความต่างว่า สภาพธรรมะที่มีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรมะนั้นเป็นส่วน หรือเป็นลักษณะ หรือเป็นประเภทที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสี เป็นเย็น เป็นร้อน เป็นอะไรก็ แล้วแต่ ลักษณะซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น สภาพนั้นเป็นรูปธรรม อันนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ที่รูปธรรมใดๆ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏ เพราะเหตุว่ามีสภาพรู้ หรือมีธาตุรู้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย จำไม่ได้ คิดไม่ได้ ดีใจไม่ได้ เสียใจไม่ได้ รูปธรรมก็เป็นแต่เพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏได้เมื่อมีการกระทบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วธาตุรู้สภาพรู้จึงรู้ว่า ลักษณะนั้น สิ่งที่มีที่ปรากฏให้รู้นั้นอ่อนหรือแข็ง แต่ว่าไม่สามารถจะบอกได้ด้วยเห็นว่า สิ่งนั้นอ่อนหรือแข็ง แต่ว่าต้องกระทบสัมผัส เช่นเดียวกับรสต่างๆ เพียงเห็น จะรู้ไหมคะว่า เปรี้ยว หรือหวานหรือ เค็ม แต่ต้องลิ้มเข้าไปในปากกระทบกับชิวหาปสาท รสนั้นจึงปรากฏกับสภาพที่กำลังลิ้มคือรู้รสนั้น

        เพราะฉะนั้น เพียงแค่ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งมีจริงๆ ในชีวิตประจำวันก็ต้องไตร่ตรอง และเข้าใจก่อนว่า ๒ อย่างต่างกันจริงๆ ในบรรดา ๒ อย่างที่ต่างกันจริงๆ รูปธรรมคงจะไม่เป็นที่สงสัย แต่ว่าต้องเข้าใจว่า รวมทั้งรูปที่มองไม่เห็นด้วย เพราะบางคนคิดว่า รูปหมายความถึงเฉพาะสีสันวัณณะรูปภาพต่างๆ ที่เรามองเห็นด้วยตาจึงจะเป็นรูป แต่ว่าในทางพระพุทธศาสนากว้างขวางกว่านั้น แม้ว่ามองไม่เห็นเลย แต่ว่าเมื่อไม่ใช่สภาพรู้ ก็เป็นรูปธรรม ส่วนนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ก็จะมีลักษณะที่ต่างกันออกไปเป็น ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ขณะนี้ที่กำลังเห็น เห็นเดี๋ยวนี้เองเป็นสภาพธรรมะที่สามารถเห็น เป็นใหญ่ในการเห็น สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ลักษณะละเอียดมากน้อยสีสันใกล้เคียงกันอย่างไรก็ตาม แต่จิตที่เห็น สามารถที่จะเห็นแจ้งในลักษณะนั้น เท่านั้นเอง แต่ว่าส่วนเวลาที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น ก็จะต้องมีสภาพนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นร่วมกัน ปรุงแต่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น สภาพนามธรรมที่ต้องเกิดกับจิตทุกครั้งที่จิตเกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า เจ ต สิ กะ แต่ว่าภาษาไทยก็เรียกกันสั้นๆ ว่า เจตสิก เป็นสภาพที่เกิดกับจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

        เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงสติปัฏฐาน จะมีคำว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ได้ใช้คำว่า เจตสิกปัฏฐานเลย ใช่ไหมคะ แต่ใช้คำว่า จิตตานุปัสสนา เพราะเหตุว่าในขณะนั้นพิจารณารู้ในธาตุซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เช่นในขณะที่เห็น ขณะนี้ก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่จิตได้ยินเสียง เป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยิน เพราะว่าขณะนั้นจะไม่มีสภาพธรรมะอื่น ถ้าสติระลึก ก็จะมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ ลักษณะของเจตสิกจะไม่ปรากฏ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยิน แต่ว่าเวลาที่เกิดความรู้สึกเจ็บทางกาย มี ใช่ไหมคะ ขณะนั้นไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สึกเป็นอารมณ์ จะดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ ก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้ อารมณ์

        ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม แล้วเวลาที่มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของนามธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นปัญญาจึงจะรู้ว่า สติ ระลึกลักษณะของจิตที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ หรือว่าขณะนั้นมีลักษณะของเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดซึ่งสติกำลังระลึก จึงรู้ในความต่างของสภาพนามธรรม ๒ อย่างนี้

        เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราได้ยินชื่อ ว่าจิตมีราคะ สราคะจิตตัง ก็ให้รู้ แต่เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นใหญ่ คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ เป็นธาตุรู้ แล้วแต่ว่าธาตุรู้นั้น จะมีลักษณะอย่างไร ต่างกันอย่างไร เพราะว่าบางครั้งบางคราวก็มีลักษณะที่ติดข้องพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเป็นสภาพที่ติดข้อง แต่ลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ในขณะนั้นต่างกับธาตุรู้ขณะอื่น ซึ่งไม่มีลักษณะของความติดข้องเกิดร่วมด้วย ผู้นั้นจึงสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต แต่ว่าธาตุรู้ซึ่งเป็นจิตในขณะนั้นต่างกับธาตุรู้ซึ่งเป็นจิตในขณะอื่น ไม่เหมือนกัน เพราะว่าจิตก็มีหลายประเภท

        ด้วยเหตุนี้ปัญญาที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะจริงๆ จึงตรง เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด ก็รู้ในลักษณะของสภาพนามธรรมนั้น แล้วก็ถ้าเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะเห็นความเป็นใหญ่ เป็นมนินทรีย์ในการรู้อารมณ์ ซึ่งต่างกับลักษณะของเจตสิกอื่นๆ

        จิตเป็นสภาพรู้ แต่เวลาที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ปรุงแต่งให้จิตนั้นเป็นจิตที่เกิดร่วมด้วยกับโลภะ เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีสภาพของการติดข้องในอารมณ์ เกิดเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เจตสิกเป็นสภาพที่ปรุงแต่งเพราะเกิดกับจิต ทำให้จิตนั้นมีลักษณะประเภทที่ต่างกับจิตอื่น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์


    หมายเลข 10402
    9 ม.ค. 2567