สมาทานคืออย่างไร


    สมาทานคือ การถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดๆ สิ่งหนึ่งทั้งที่ดีหรือไม่ดี สภาพธรรมที่สมาทานเป็นเจตนาเจตสิก แต่การเว้นในสิ่งที่ไม่ดีเป็นวิรตีเจตสิก


    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงคำว่า สมาทาน สิ่คะ คืออะไร พูดตามๆ กันหรือเปล่า ไปสมาทานศีล ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะถึงความเข้าใจว่า ไม่มีเรา เป็นธรรมทั้งหมด คุณกุลวิไลจะลักทรัพย์ใครหรือไม่

    อ.กุลวิไล ขณะนี้ยังไม่มีเจตนาที่จะทำ

    ท่านอาจารย์ ตั้งใจไว้หรือเปล่า ว่าจะไม่ลัก

    อ.กุลวิไล ตั้งใจ

    ท่านอาจารย์ หรือว่าตอนนี้ไม่เอา พรุ่งนี้ไม่รู้

    อ.กุลวิไล แต่ตั้งใจค่ะ ที่จะไม่ลักทรัพย์

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคือความหมายของคำว่า สมาทาน ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เราคงจะไม่ไปถือเอาความไม่ดี มาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าปกติก็เป็นไปตามอกุศลอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสมาทานอกุศล แต่ว่าเวลาที่ถือเอาในสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติ ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน คนอื่นไม่เดือดร้อน จะเดือดร้อนเพราะตัวเองแน่ๆ แต่ว่าตัวเองที่จะเดือดร้อนก็คือว่า ขณะนั้นตั้งใจที่จะไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็เดือดร้อนแล้ว ผลนั้นที่ตั้งใจไว้ ก็กลับมาสู่จิต ซึ่งเกิดขึ้นจากจิตซึ่งเป็นอกุศล อกุศลวิบากจิตทั้งหมด ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีใครไปทำอะไรให้ใครเลยทั้งสิ้น

    สมาทานศีลก็ไม่ต้องใช้คำนี้ก็ได้ ทำไมไปพูดคำที่ไม่รู้จัก และก็ไม่รู้จัก จนไม่รู้ว่าสมาทานแปลว่าอะไร แต่ก็ทำอย่างนั้นแหละมาเรื่อยๆ แต่ว่าตามความเป็นจริง ถึงนั่งอยู่ตรงนี้แล้วก็มีความคิดมั่นคง ที่จะไม่กระทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ขณะนั้นก็คือความหมายของคำว่าสมาทาน ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

    อ.คำปั่น สมาทาน มาจากคำว่า สัง แปลว่าด้วยดี อาคือกลับความ มีความหมายที่ตรงกันข้ามกับคำที่จะกล่าวถึง ก็คือคำว่าทานะ ทานะคือการให้ พอ อาอยู่ข้างหน้า ก็จะกลับความ ก็จะเป็นการถือเอา เพราะฉะนั้นเมื่อสังแปลว่าด้วยดี รวมกับคำว่า อาทานะที่แปลว่าถือเอา จึงเป็นความหมายที่ว่า ถือเอาโดยทั่วด้วยดี เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ สมาทานก็ขึ้นอยู่กับว่า ในที่นั้นจะมุ่งหมายถึงว่า สมาทานตั้งใจที่จะประพฤติในสิ่งที่ดีงาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ถ้ามีการสมาทานธรรมที่เป็นพิษ คืออกุศลธรรมทั้งหลายนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็มีแสดงไว้ ๒ ส่วน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความกว้างขวางยิ่งขึ้น ของคำที่เบื้องต้น ส่วนใหญ่เข้าใจอย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าได้ศึกษาภาษาบาลี ก็จะมีความหมายที่ชัดเจนขึ้นอีก แล้วก็ตามปกติธรรมดา ที่สมาทานศีล ไม่มีใครไปสมาทานอกุศลศีล ทั่วไปคนเข้าใจการสมาทานในสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าเข้าใจถูกต้องว่า สมาทานคือการถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ย่อมมีทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดีด้วย ณ เวลาที่สมาทานทางฝ่ายอกุศล ต้องไปบอกใครหรือเปล่า เงียบกริบเลย จะไปบอกเขาได้อย่างไร อกุศล แต่ว่าขณะนั้นจิตก็สมาทานแล้ว ถือเอาว่าจะกระทำทุจริตอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นต้น ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ได้ฟัง และการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และก็ต้องเข้าใจถึงความเป็นจริงว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของจิต เรื่องของการที่ทางฝ่ายไม่ดี ก็จะไม่บอกใคร ทางฝ่ายดีไม่ต้องบอกใครก็ได้ เหมือนกันเลย แต่ที่บอกว่าสมาทานศีลบ้าง ก็คือว่ากล่าวยืนยันให้รู้ว่า จะไม่ทำอย่างนั้น ยืนยันที่ไปบอกคนอื่น หมายความว่าไม่ใช่รู้เฉพาะตัว แต่ต้องการให้คนอื่นรู้ด้วย เป็นพยานด้วย ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปสมาทานที่วัดบ้าง หรือว่าสมาทานกับพระภิกษุบ้าง ขณะนั้นต้องเป็นทางฝ่ายกุศล ทางฝ่ายอกุศลก็ไม่ไปบอกใคร

    การศึกษาธรรมก็เป็นการที่ให้รู้ว่า ไม่มีเรา แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมด จะใช้คำว่าสมาทาน ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราก็ไม่ต้องไปบอกใครก็ได้ ถึงเขาทำอย่างนั้น ก็เพราะว่าเขาคิดที่จะทำ และถือเอาว่าเขาจะทำอย่างนี้บ่อยๆ นั่นก็เป็นความหมายของคำว่า สมาทาน ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

    ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า อนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาธรรมใดๆ ได้ แม้สมาทานแล้ว ยังทำผิด นี่แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา ขณะที่สมาทาน คือเจตนาเท่านั้น ความตั้งใจ ความจงใจ ที่จะไม่กระทำสิ่งที่ผิด เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วก็ดับไป การงดเว้นทุจริตมี ไม่ใช่แต่เฉพาะเจตนาซึ่งเป็นสมาทาน แต่ยังมีวิรตีเจตสิก ซึ่งขณะนั้น ตัวอย่างของคนทอนเงิน ถึงแม้ว่าเขาจะหยิบเงินทอนออกมาแล้ว แต่ถ้าเขาเกิดวิรัติขึ้นมา ที่จะไม่ทำทุจริต เขาก็คืนเงินให้ไปได้ เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ละเหตุการณ์ ซึ่งใครก็รู้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะสมาทานแล้ว แต่ก็ถึงเวลาจริงๆ วิรตีเจตสิกไม่เกิด ก็ไม่มีเราจะไปวิรัติ แต่ต้องเป็นสภาพธรรมของเจตสิก ซึ่งวิรัติเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ได้เข้าใจคำว่า สมาทาน เป็นการถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ได้แก่ เจตนาเจตสิก แต่การที่จะวิรัติ เว้นจริงๆ ในเมื่อวัตถุนั้นกำลังอยู่เฉพาะหน้า ต้องเป็นเพราะวีรตีเจตสิกเกิดหรือไม่เกิด


    หมายเลข 10870
    26 เม.ย. 2567