[คำที่ ๕๙๔] ปญฺญาสมฺปทา

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ม.ค. 2566
หมายเลข  45483
อ่าน  436

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "ปญฺญาสมฺปทา"

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ปญฺญาสมฺปทา อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัน - ยา - สำ - ปะ -ทา มาจากคำว่า ปญฺญา (ความเข้าใจถูก,ความเห็นถูก, ปัญญา) กับคำว่า สมฺปทา (ความถึงพร้อม) รวมกันเป็น ปญฺญาสมฺปทา เขียนเป็นไทยได้ว่า ปัญญาสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยความเข้าใจถูก, ความถึงพร้อมด้วยความเห็นถูก, ความถึงพร้อมด้วยปัญญา

ปัญญา เป็นเจตสิกธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) ฝ่ายดีประการหนึ่ง เป็นสภาพที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐอย่างยิ่ง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น และทำให้อกุศลธรรมค่อยๆ ถูกขัดเกลาละคลาย จนกระทั่งสามารถดับได้ตามลำดับขั้น

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปัตตกัมมสูตร แสดงความเป็นจริงของความถึงพร้อมด้วยปัญญา (ปัญญาสัมปทา) ดังนี้

ก็ ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร? บุคคลมีใจอันอภิชฌาวิสมโลภะ (ความติดข้องที่เกินประมาณ) ครอบงำแล้วย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำเสีย ก็ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาท (ความปองร้ายผู้อื่น) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน) อุทธัจจ-กุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ครอบงำแล้ว ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำเสีย ก็ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข ดูกร คฤหบดี อริยสาวกทราบว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) แห่งจิตดังนี้แล้ว ละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตเสีย ทราบว่าพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว ละพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตเสีย เมื่อใดอริยสาวกทราบว่า อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะวิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตแล้ว ละอภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตเสียได้แล้ว เมื่อนั้นอริยสาวกนี้ เราเรียกว่า ผู้มีปัญญาใหญ่ ผู้มีปัญญามาก ผู้เห็นคลอง (ของธรรม) ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ไม่มีใครเสมอเหมือน พระบารมีคุณความดีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงสะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริง เกื้อกูลสัตว์โลก เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตว์โลกโดยตลอด มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหมบุคคล

การที่แต่ละบุคคลจะเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องฟัง พิจารณาไตร่ตรองบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ความเห็นมี ๒ ประเภท คือ ความเห็นผิด กับ ความเห็นถูก ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ความเห็นผิด ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น แต่มีมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ความเห็นผิดเป็นอกุศลธรรมที่อันตรายมาก มีโทษมาก เพราะว่าเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิดทั้งหมด บางคนตนเองเห็นผิดแล้ว ยังแนะนำให้ผู้อื่นเห็นผิดตามไปด้วย ซึ่งเป็นโทษอย่างมาก ทำให้คนออกจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการปิดกั้นผู้อื่นไม่ให้มาสู่หนทางที่ถูกต้อง ส่วนความเห็นถูก เป็นปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ถูก คล้อยตามความเห็นที่ถูกต้อง ทั้งหมด ความความเห็นถูก จะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยความเคารพ ละเอียด และรอบคอบ เห็นประโยชน์ของคำที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป ความเข้าใจถูกเห็นถูกที่ได้สะสมไว้นี้ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ย่อมจะเป็นเหตุให้เป็นผู้มีความสนใจ เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไปอีก เกื้อกูลให้ไม่หลงผิด ไม่ตกไปในฝ่ายที่ผิด เพราะฉะนั้น ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงเป็นธรรมที่ไม่มีโทษเลย มีแต่คุณประโยชน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปัญญา เป็นอย่างมาก และที่สำคัญ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมด เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงโดยตลอด ซึ่งกว่าจะถึงความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

ถ้าไม่มีปัญญา คือความเห็นถูกเลย อกุศลธรรมย่อมเกิดอยู่เรื่อยๆ ครอบงำทับถมต่อไป มีความติดข้อง มีความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ในเรา ในเขา อย่างเต็มที่ทีเดียวตามความเห็นผิดที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น เจริญขึ้น อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็ย่อมไม่เกิด เพราะมีความเห็นถูกเกิดขึ้นแล้ว เป็นกุศลธรรมในขณะนั้น อกุศลใดๆ ย่อมเกิดไม่ได้ หรือแม้อกุศลธรรมที่เกิดแล้ว ย่อมเสื่อมไป อกุศลธรรมทั้งหลายที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ปัญญาก็สามารถดับได้เมื่ออบรมเจริญถึงความสมบูรณ์พร้อมแล้ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Muthitas
วันที่ 29 ก.พ. 2567

กราบสาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ