[คำที่ ๕๙๗] วิตกกฺก

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ก.พ. 2566
หมายเลข  45536
อ่าน  391

ภาษาบาลี คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ วิตกฺก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

วิตกฺก อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ - ตัก - กะ หมายถึง สภาพที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ตามสภาพของจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย วิตักกะ หรือ วิตกซึ่งตรึกหรือจรดในอารมณ์นั้นเหมือนเท้าของโลกเพราะทำให้โลกก้าวไปโดยจิตเกิดขึ้นเป็นไปตามวิตักกะนั้นๆ ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎกสังยุตตนิกายสคาถวรรคสัญโญชนสูตรดังนี้

เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอ เป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า วิตก เป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

ในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัญโญชนสูตร มีคำอธิบาย ดังนี้

บทว่า วิจรณํ ได้แก่ เท้าทั้งหลาย เป็นเครื่องเที่ยวไป. บทว่า วิจรณํ นี้ เป็นคำเอกพจน์ใช้ในอรรถแห่งพหูพจน์. บทว่า วิตกฺกสฺส วิจรณา ได้แก่ วิตก เป็นเท้าของโลก.


วิตักกะหรือวิตก เป็นสภาพที่มีจริง เป็นเจตสิก (สภาพที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก สามารถเกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติ คือเกิดร่วมกับจิตชาติกุศลก็ได้ ชาติอกุศลก็ได้ ชาติวิบากก็ได้ ชาติกิริยาก็ได้ วิตักกเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ (สิ่งที่จิตรู้) วิตักกะ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดเองเพียงลำพังไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย

วิตักกะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตส่วนใหญ่สำหรับในชีวิตประจำวันวิตักกะไม่เกิดกับจิต๑๐ประเภทคือไม่เกิดกับจิตเห็นจิตได้ยินจิตได้กลิ่นจิตลิ้มรสจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายที่เป็นผลของกุศลกรรมกับที่เป็นผลของอกุศลกรรมนอกนั้นแล้วมีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วยซึ่งยากอย่างยิ่งที่จะเข้าใจแม้มีจริงในขณะนี้จึงต้องได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไป

ในชีวิตประจำวันที่พอจะเข้าใจได้ก็คือวิตักกะที่เป็นไปกับอกุศลกับวิตักกะที่เป็นไปกับกุศลยกตัวอย่างวิตักกะที่เป็นไปกับอกุศลเช่นตรึกไปด้วยความติดข้องยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสและสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายตรึกไปด้วยความโกรธความไม่พอใจในบุคคลอื่นตรึกไปในการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นเป็นต้นในทางตรงกันข้ามวิตักกะที่เป็นไปกับกุศลเช่นตรึกไปในการให้ทานสละวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตรึกไปในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นตรึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้วเป็นต้นทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริงเป็นธรรมที่มีจริงไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สำหรับที่กล่าวถึงวิตักกะหรือวิตก เป็นเท้าของโลก นั้น ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๗๓๑ มีดังนี้

“ทุกขณะจิตจะไปทางไหน เพราะวิตกหรือวิตักกเจตสิกเป็นเท้าของโลก นั่งอยู่ที่นี่ คิดไปแล้วใช่ไหม? มีเท้าก้าวไปสู่อารมณ์นั้น คือวิตักกเจตสิกนั่นเอง หรือแม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เห็นดับแล้วก็ไปอีก สู่ความนึกคิดถึงลักษณะที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะวิตักกเจตสิกเป็นเท้าของโลก ทุกวันๆ ไม่ได้ขาดขณะจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดแล้วก็ดับไปเลย เพราะฉะนั้น วิตักกเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่มีความสำคัญ เป็นเท้าของโลกซึ่งก้าวไปเรื่อยๆ สู่ขณะจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง ถ้าเป็นอกุศลวิตก ก็นำไปสู่ทางต่ำ คิดก็ต่ำ วาจาก็ต่ำ การกระทำก็ต่ำ เพราะเหตุว่าเป็นอกุศล ใจก็ผูกโกรธ แล้วก็วาจาก็ทำลายคนอื่นได้ กิริยาอาการก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ นั่นคือสภาพของอกุศลวิตกซึ่งเป็นมรรค เป็นหนทางที่จะนำไปสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน แต่จะเปรียบเทียบเห็นความต่างกันของกุศลวิตก ซึ่งเป็นวิตกฝ่ายสูง ฝ่ายดี นำสูงขึ้นสู่สวรรค์ หรืออาจจะถึงรูปพรหม อรูปพรหม หรือนิพพาน เพราะเหตุว่า วิตักกเจตสิกเป็นองค์ของมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมาสังกัปปะซึ่งเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิถ้าเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าเป็นทางผิด ดำริผิด ก็เกิดร่วมกับความเห็นผิดได้ สำคัญไหมวิตักกะ มีอยู่แล้ว และกำลังมี และก็จะมีอยู่ต่อไป แต่ถ้าขาดการพิจารณาว่าแม้แต่ความคิด เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าขาดการพิจารณาแล้ว ก็ไม่มีทางเลยที่จะทำให้กุศลวิตกเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าย่อมเป็นอกุศลวิตกมากกว่ากุศลวิตก คือ เป็นไปกับโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง"

ต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ โดยการฟังพระธรรมโดยละเอียด ความเป็นผู้ละเอียดในการฟังพระธรรมจะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น แม้ก่อนนี้อาจจะไม่เห็นความสำคัญของความคิดหรือวิตักกเจตสิกเลย แต่ขอให้ทราบว่า ชีวิตทั้งชีวิตสำคัญที่ไหน สุขหรือทุกข์อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ความคิดนั่นเอง ถ้าคิดดีเป็นกุศลวิตก ไม่มีทุกข์ แต่ขณะใดที่มีทุกข์ ให้ทราบว่า ขณะที่เป็นทุกข์นั้นเองเป็นอกุศลวิตก บางท่านอาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องไร้สาระที่คนอื่นอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ท่าน จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร กุศลวิตกหรือว่าอกุศลวิตก ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ขณะที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นไม่ใช่ทุกข์นั้นเกิดจากคนอื่น แต่อกุศลวิตกทำให้เป็นทุกข์

ถ้าเป็นคนฉลาดก็รู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ ถ้าเพียงแต่ไม่สนใจ ไม่เดือดร้อน ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน เห็นก็เหมือนไม่เห็น และก็มีเมตตา ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้น ไม่เดือดร้อนเลยจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลวิตกเกิด ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นอกุศลวิตก ควรจะระลึกได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมด ความเดือนร้อนใจทั้งหมด ความกระวนกระวายทั้งหมดมาจากอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ปัญญาจะทำให้เห็นประโยชน์ของการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคลจะได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ) ใดๆ ก็ตาม ถ้าสติเกิดระลึกได้ วิตักกเจตสิกเกิดกับสัมมาสติ เกิดกับสัมมาทิฏฐิ ในขณะนั้นจะไม่เป็นทุกข์เลย

จะเห็นได้จริงๆ ว่า พระธรรมแต่ละคำ ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่พึ่งในชีวิตจริงๆ เกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ทำให้ออกห่างจากอกุศล และที่สำคัญแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน แต่ละคำล้วนเกื้อกูลให้เข้าใจตัวจริงของธรรมว่าเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงต้องได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเพื่อสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเองต่อไป ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตและในสังสารวัฏฏ์

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.พ. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลของพี่ตรัสวิน พี่แจ๊ค ทีมงานทุกๆ ท่านด้วยครับ

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ เข้าสู่ปีที่ ๑๓ แล้วนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
sanit99141@gmail.com
วันที่ 6 ก.พ. 2566

กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ธรรมครับเข้าใจขั้นฟังครับลึกซึ้งจังเลยครับกราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ก.พ. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
mon-pat
วันที่ 12 ก.พ. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Sudhipong.U
วันที่ 21 ก.พ. 2566

กราบอนุโมทนา อ.คำปั่น ที่ร้อยเรียง ภาษาบาลี ๑ คำ เป็นคติธรรมที่คอยเตือนใจให้ขัดเกลาอกุศล และมั่นคงยิ่งขึ้นในการเจริญกุศล มาตลอด 13 ปี นี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nui_sudto55
วันที่ 14 มี.ค. 2567

กราบสาธุอาจารย์สุจิน และอาจารย์ทุกๆ ท่านที่ถ่ายทอดบอกสอนต่อมาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ