[คำที่ ๕๙๘] จวนตา

 
Sudhipong.U
วันที่  21 ก.พ. 2566
หมายเลข  45594
อ่าน  355

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ จวนตา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

จวนตา อ่านตามภาษาบาลีว่า จะ - วะ - นะ ตา มาจากคำว่า จวน (เคลื่อนไป) กับ ตา ปัจจัย (ใช้แทน ภาวะ ศัพท์ มีความหมายว่า ความเป็น หรือ “ความ”) รวมกันเป็น จวนตา แปลว่า ความเคลื่อนไป ในที่นี้จะนำเสนอในความหมายที่แสดงถึงความเคลื่อนไปจากชาตินี้ ในขณะที่จุติจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ซึ่งรู้กันว่า ตาย เมื่อสิ้นสุดจากความเป็นบุคคลนี้แล้ว จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย “จวนตา” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นจริงของความตาย ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส ดังนี้

“คำว่า ความตาย ได้แก่ ความจุติ ความเคลื่อนไป จากหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งเหล่าสัตว์นั้นๆ ความแตกทำลาย ความหายไป มัจจุ มรณะ กาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความทอดทิ้งร่างกาย ความเข้าไปตัดแห่งชีวิตินทรีย์”


บุคคลที่เคยผูกพันไว้ มีความเยื่อใยติดข้องมากมายในปัจจุบันชาตินี้ ในฐานะมารดาบ้าง บิดาบ้าง บุตรธิดาบ้าง ญาติสนิทมิตรสหายบ้าง แต่ว่าเมื่อถึงคราวจะต้องจากโลกนี้ไป เพียงชั่วพริบตาเดียว บุคคลนั้นก็เป็นบุคคลอื่น ในเมื่อบุคคลนั้นสิ้นชีวิตละจากโลกนี้ไปแล้วก็เป็นบุคคลใหม่ทันที จะย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย เนื่องจากสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้แล้ว นี้คือความเป็นจริงของธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำเกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตมีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต หลากหลายเพราะอารมณ์ต่างๆ กัน หลากหลายตามระดับขั้นของจิต เป็นต้น แต่ที่กล่าวถึงความเคลื่อนไปจากชาตินี้ ที่รู้กันว่า ตาย ก็คือ ขณะที่จุติจิตเกิดขึ้น ที่เรียกว่าเป็นจุติจิต เรียกตามกิจหน้าที่ คือ จิตใดที่ทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เรียกจิตนั้นว่าเป็นจุติจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แต่ในเบื้องต้นก็ขอให้ได้เข้าใจว่า เป็นธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน จะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ แต่จะเกิดทีละขณะ ดังนั้น จุติจิต ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครจะเอาชนะความตายได้เลย ไม่ว่าจะด้วยทรัพย์ ด้วยการรักษาจากแพทย์ผู้ที่มีความชำนาญมาก หรือ ด้วยการสู้รบ เป็นต้น เพราะความตายย่อมย่ำยีทุกคน ไม่เว้นใครเลย

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ได้อย่างยากแสนยาก เพราะต้องเป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้นจึงจะทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีชีวิตเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และสุดท้ายแล้วก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น จะต้องถึงขณะที่จิตขณะสุดท้ายในชาตินี้เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ ที่เรียกว่า ตาย ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย จะเห็นได้จริงๆ ว่า ก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน คือไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ ชาติก่อนเกิดเป็นอะไร ต่อจากนั้น จะไปไหนก็ไม่ทราบ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในภพภูมิใด ก็ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่แน่ๆ ย่อมทราบว่า จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ทราบว่าจะตายตอนไหน จะตายตอนเช้า สาย บ่าย ค่ำ กลางคืน ก็ไม่สามารถจะทราบได้ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา คือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ขณะนี้ทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ในสุคติภูมิ พ้นจากการเกิดในอบายภูมิแล้วในขณะนี้ แต่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะไปเกิดในภพภูมิใด ย่อมไม่แน่ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด อาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไปเกิดได้ง่ายมากทีเดียว เป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เป็นไปเพื่อความไม่ประมาท พระองค์ทรงเตือนให้พุทธบริษัทเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเหตุว่า ชีวิตของแต่ละคนก็ล่วงไปอย่างรวดเร็ว ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะๆ ไม่ได้ยั่งยืนเลย แล้วบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?

เกิดแล้วตายเป็นของธรรมดา ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ทั้งคนดี คนไม่ดี คนมั่งมี คนยากจนเข็ญใจ เป็นต้น ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้นแต่ว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็มีแต่ความไม่รู้ มีแต่ความเห็นแก่ตัวและมีแต่การทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตัว ไม่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ทำแต่สิ่งที่เป็นโทษมากมายแต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะไม่ประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะอกุศลแม้เล็กน้อย ก็มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย และไม่ประมาทในการเจริญกุศลแม้เพียงเล็กน้อยด้วยเพราะรู้ว่าโอกาสที่จะเจริญกุศลหรือทำความดีนั้นหายาก เมื่อมีโอกาสที่จะทำความดีเมื่อไหร่แล้วไม่ทำ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ก็สะสมอกุศลต่อไปจึงไม่ควรประมาทกุศลแม้เพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวันเพียงขณะหนึ่งที่ทำความดี ขณะนั้นก็สะสมที่จะเป็นคนดีในลักษณะนั้นๆ ต่อไป

ความดีที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาความดีทั้งหลาย คือความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญคือการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เห็นคุณค่าในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะใดที่ได้เข้าใจธรรม ความเข้าใจธรรมนั้นก็จะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตเป็นที่พึ่งต่อไป เป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป กล่าวได้ว่า เป็นการมีชีวิตที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ก่อนที่จะเคลื่อนไปจากภพนี้ชาตินี้ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ