[คำที่ ๖๐๒] อตปนียธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  19 มี.ค. 2566
หมายเลข  45680
อ่าน  245

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อตปนียธมฺม

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อตปนียธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - ตะ - ปะ - นี - ยะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า (ไม่) [แปลง น เป็น อ] ตปนีย (ที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน, เหตุที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, ธรรม) รวมกันเป็น อตปนียธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า อตปนียธรรม แปลว่า ธรรมที่ไม่เป็นตั้งแห่งความเดือดร้อน, ธรรมที่ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อน แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น ที่จะไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อน ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ไม่เดือดร้อนทั้งในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น และยังเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข ไม่นำมาซึ่งความเดือดร้อนในภายหลังอีกด้วย กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษโดยประการทั้งปวง ซึ่งจะไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนเลย ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อตปนียสูตร ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้ ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการเป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้ทำความดีงามไว้ ทำกุศลไว้ ได้ทำบุญอันเป็นเครื่องต่อต้านความขาดกลัวไว้ ไม่ได้ทำบาป ไม่ได้ทำอกุศลกรรมอันหยาบช้า ไม่ได้ทำอกุศลกรรมอันกล้าแข็ง บุคคลนั้น ย่อมไม่เดือดร้อนว่า เราได้ทำกรรมอันดีงาม ดังนี้บ้าง ย่อมไม่เดือดร้อนว่า เราไม่ได้ทำบาป ดังนี้บ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการ นี้แล ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน”


ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินในแต่ละวัน ในฐานะของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งดี และ ไม่ดี ที่กล่าวว่า ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใส) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตนในธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้เลย

ชีวิตของผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ดำเนินไปอย่างผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ทำให้ไม่เห็นโทษของอกุศล คือ ความชั่วทั้งหลายทั้งปวง และไม่เห็นประโยชน์ของความดีประการต่างๆ จิตใจมีแต่จะคล้อยไปในทางที่เป็นอกุศล ทำแต่สิ่งที่ผิด ทำแต่สิ่งที่เป็นโทษเป็นส่วนใหญ่ ย่อมเป็นผู้เสื่อมอย่างที่สุดเพราะไม่มีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ในทางตรงกันข้าม ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ก็ดำเนินไปตามปกติ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาตามเหตุปัจจัย แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงของธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวต่ออกุศล พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลให้เบาบางลง ทั้งหมดทั้งปวงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เริ่มด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นประโยชน์ของทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าซึ่งเป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง และเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ปัญญานี้เองที่จะนำทางชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ไม่นำพาไปในทางที่ผิด

เป็นความจริงที่ว่าบุคคลที่ทำชั่วประการต่างๆ ขณะนั้นเป็นการสร้างเหตุใหม่ที่ไม่ดี เดือดร้อนแล้วในขณะที่ทำชั่ว ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า โดยที่ไม่มีใครทำให้ เป็นไปเพราะกรรมชั่วของตนเองเท่านั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่กรรมชั่วให้ผลนั้น ถึงแม้ว่าจะมีบุคคลอื่นคอยคุ้มครองป้องกันรักษาด้วยหวังว่าจะให้รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ ก็ไม่สามารถป้องกันการได้รับผลของกรรมชั่วที่ตนเองเคยทำไว้แล้วได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม กล่าวได้เลยว่าบุคคลที่ทำชั่ว ชื่อว่า ไม่รักตนเอง ไม่รักษาตนเอง เกิดมาเพื่อทำลายตนเองจริงๆ ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่ได้ทำความดี สะสมคุณความดีประการต่างๆ ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นโทษ บุคคลประเภทนี้เป็นผู้รักตนเอง รักษาตนเอง ทำประโยชน์ให้กับตนเองอย่างแท้จริง คือ รักษาด้วยการประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม รักษาด้วยการสะสมเหตุที่ดีที่จะให้ผลที่ดีในภายหน้า เนื่องจากว่าความดีทั้งหลายให้ผลเป็นสุขเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ที่การมีบุคคลมากมายมาแวดล้อมป้องกันรักษา เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมาแวดล้อมป้องกันรักษาเลย แต่เมื่อความดีที่ได้สะสมไว้แล้วให้ผล ก็ย่อมไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะไปประทุษร้ายเบียดเบียนให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ ได้เลย และเครื่องป้องกันต้านทานที่ดีที่สุดประเสริฐที่สุด คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงควรค่าแก่การฟังการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนำมาซึ่งความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้น เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย

จะเป็นคนนี้อีกนานเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้เลย เพราะไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้เลย ประโยชน์ที่ควรจะได้พิจารณา คือ อย่างไรก็ต้องจากโลกนี้ไป จะเป็นคนใหม่ที่มาจากคนนี้ เพราะฉะนั้น คนนี้เดี๋ยวนี้ทำอะไร? นี้คือ สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การมีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรมและสะสมความดีทุกประการ จึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปซึ่งจะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนเลยแม้แต่น้อย

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ