[คำที่ ๖๐๕] อชฺโฌสาน

 
Sudhipong.U
วันที่  1 เม.ย. 2566
หมายเลข  45758
อ่าน  381

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อชฺโฌสาน

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อชฺโฌสาน อ่านตามภาษาบาลีว่า อัด - โช - สา - นะ แปลว่า ความหมกมุ่น เป็นอีกหนึ่งคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของโลภะ ซึ่งเป็นสภาพที่ติดข้องยินดีพอใจ ยึดติดไว้ ไม่สละ ไม่ปล่อยในสิ่งที่ตนเองติดข้อง และเมื่อถูกโลภะครอบงำ ก็เป็นไปตามอำนาจโลภะ หมกมุ่นในสิ่งนั้น เวลาก็เสียไปกับโลภะ ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ใดๆ ในขณะที่ถูกโลภะครอบงำ กล่าวได้ว่าถูกโลภะกลืนไปจนหมดสิ้น ตามข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี ดังนี้

ที่ชื่อว่า อชฺโฌสานํ (ความหมกมุ่น) ด้วยอำนาจการถือเอา โดยการกลืนให้สิ้นไป


ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ธรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอยู่ทุกขณะ สิ่งที่สำคัญคือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปพิจารณา และแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลส ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปได้ในทันทีทันใด

สิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก จะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง เพราะอาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง สัตว์โลกจึงได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่มีจริงที่ไหน แม้แต่ โลภะ ก็มีจริง ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังมีโลภะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ละคำ ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสเรื่องอะไร ก็ทรงแสดงถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น นี้คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม มีค่าทุกครั้งที่ความเข้าใจเกิดขึ้น

โลภะ เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่ติดข้องต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีระดับขั้นตั้งแต่บางเบา กระทั่งมีกำลังถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน มีการลักขโมยของของผู้อื่น หรือถึงกับทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ก็เพราะความติดข้องเกินประมาณนั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ มีหลายชั้น หลายระดับ และที่สำคัญคือ เกิดขึ้นเป็นไปมาก ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ใช่เฉพาะวันนี้วันเดียว ชาตินี้ชาติเดียว แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ และยังจะเป็นอย่างนี้ต่อไป

ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า เมื่อถูกโลภะครอบงำ ก็เป็นผู้เป็นไปตามกำลังของโลภะ หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ติดข้อง กล่าวได้ว่าถูกโลภะกลืนกินจนหมดสิ้น เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้จริงๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ เวลาที่เสียไปกับโลภะ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ เลย ในขณะที่ถูกโลภะครอบงำ

โลภะ เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจของตน คือติดข้องไม่สละ ไม่ปล่อยให้จิตเป็นกุศล และลึกไปกว่านั้น ไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ เพราะผู้ที่สิ้นโลภะอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ก็คือพระอรหันต์ ประโยชน์ที่ได้ฟังเรื่องของโลภะ ก็เพื่อเข้าใจตามความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้ว แม้แต่โลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ โลภะ มีมากจริงๆ ขณะที่โลภะเกิดขึ้น ก็ทำให้เดือดร้อน แสวงหา นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยเท่านั้น

ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในวัตถุต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความติดข้องในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย โลภะย่อมสะสมทับถมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัย โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่ในขณะที่กระทำอกุศลกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง มีเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น มีวิบากที่เลวทราม จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

ข้อที่น่าพิจารณา คือ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ บุคคลผู้มีโลภะ แต่สะสมศรัทธามาที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับโลภะได้ นี้คือ สิ่งที่น่าอัศจรรย์ กว่าจะถึงความน่าอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ได้ ก็ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะพระธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อละโดยตลอด กล่าวคือ เพื่อละความติดข้องยินดีพอใจจนหมดสิ้น ไม่ต้องมีการเกิดอีกในภพใหม่ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีก ถึงความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ซึ่งเริ่มต้นฟังเริ่มต้นศึกษาได้ตั้งแต่ในขณะนี้

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ