[คำที่ ๕๙๖] กุสลการก

 
Sudhipong.U
วันที่  3 ก.พ. 2566
หมายเลข  45524
อ่าน  283

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์กุสลการก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า กุสลการก อ่านตามภาษาบาลีว่า กุ - สะ - ละ - กา - ระ กะ มาจากคำว่า กุศล (กุศล, ความดี, สภาพที่ไม่มีโทษ) กับคำว่า การก (บุคคลผู้กระทำ) รวมกันเป็น กุสลการก แปลได้ว่า บุคคลผู้ทำกุศล, บุคคลผู้ทำความดี ตรงกันข้ามกับบุคคลผู้ทำอกุศลหรือทำความชั่วอย่างสิ้นเชิง สำหรับบุคคลผู้ทำกุศลนั้นว่า โดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไป ทำในสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร จึงเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุคคลผู้ทำกุศล เมื่อเหตุที่ดีมีแล้ว ผลที่ดีจึงเกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่ทำอกุศล ก็ย่อมจะได้รับผลที่ไม่ดี ตามควรแก่เหตุเช่นเดียวกัน โดยไม่มีใครทำให้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรทำต้องเป็นกุศลเท่านั้น ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อรกานุสาสนีสูตร ดังนี้

ดูกร พราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย น้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ (คือ รู้ได้) ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ (ประพฤติประเสริฐ) เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูกร พราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้เร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้างฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย ไม่มี


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ โดยตลอด แม้ว่าจะทรงแสดงโดยปรารภถึงบุคคลประเภทต่างๆ ที่มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ดีบ้าง ไม่ดีบ้างนั้น ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง เพราะมีธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไป จึงมีการหมายรู้กันว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้นๆ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นเครื่องเตือนให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในการทำกุศล สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลาละคลายอกุศลของตนเองซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาตินั้นแสนสั้นมาก เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้แม้แต่คนเดียว แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับแต่ละคน คือถึงแม้ว่าจะมีอกุศลมากมาย เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าได้เริ่มเห็นโทษของอกุศล แล้วน้อมไปในการทำกุศล จากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ย่อมจะดีกว่าที่เป็นอกุศลแล้ว ไม่เห็นโทษ และไม่ยอมถอยกลับจากอกุศลเลย ที่จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลและถอยกลับจากอกุศลได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

เป็นความจริงที่ว่าบุคคลผู้ที่ทำกุศลหรือทำดีนั้น ย่อมเป็นผู้ยังประโยชน์ของตนและยังประโยชน์ของผู้อื่นให้สำเร็จได้ เพราะเป็นผู้กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นผู้มีจิตใจประกอบด้วยธรรมฝ่ายดี มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป มีสติระลึกเป็นไปในความดีประการต่างๆ และที่สำคัญ มีปัญญาเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง จึงทำดีประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การสละแบ่งปันสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การงดเว้นจากการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย และสะสมความดีที่ประเสริฐ คือการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กุศล ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นนั้น คนดีทั้งหลายย่อมกระทำได้ง่าย คือเป็นผู้สามารถที่จะกระทำได้ง่าย เพราะสะสมมาที่จะน้อมไปในทางที่ดีอยู่เสมอ กุศลดังกล่าวนั้นคนชั่วย่อมทำได้ยาก คือไม่สามารถที่จะกระทำได้ เพราะไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เห็นคุณของกุศล และความชั่วทั้งหลาย ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่คนชั่วทำได้ง่ายมาก เพราะเคยชินต่อการที่จะเป็นคนชั่ว ส่วนผู้ที่เป็นคนดีย่อมทำความชั่วดังกล่าวได้ยาก เพราะคนดีย่อมไม่ยินดีในการทำความชั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในแต่ละขั้นนั้น สามารถละกิเลสได้ตามลำดับ กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว จะไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

ปัญญาจะทำให้รู้ความจริงว่าสิ่งที่น่ากลัว คือความชั่ว และมีการเห็นโทษภัยของความชั่วซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ภัยที่เกิดจากคน จากน้ำท่วม จากไฟไหม้ จากโรคระบาดต่างๆ นั่นคือภัยชั่วคราว เป็นภัยภายนอก แต่ภัยอย่างยิ่งคือความชั่วที่อยู่ใกล้ที่สุดในจิตนี้เอง อันทำลายอยู่ทุกขณะที่เกิดขึ้น เป็นภัยที่นำมาซึ่งภัยภายนอก ถ้าไม่มีภัยภายในคือความชั่วทั้งหลาย ภัยภายนอกก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย แต่ที่ยังประสบกับภัยภายนอก ก็เพราะมีมูลเหตุมาจากความชั่วที่ตนเองได้กระทำแล้วนั่นเอง สิ่งที่จะต้านทานกำลังของความชั่วซึ่งเป็นภัยภายในได้นั้น ก็ต้องเป็นกุศลเท่านั้น กุศลจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ควรสะสม

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอนก็ตาม ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีอยู่เสมอ เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทำดีทุกประการ และพระธรรมก็เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัยด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายความไม่ดีของตนเองที่สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ