บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กิริยาของบุญ การกระทำของบุญ

 
chatchai.k
วันที่  1 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45264
อ่าน  466

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กิริยาของบุญ การกระทำของบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานอย่างเดียวเท่านั้น บุญกิริยามี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทาน การให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมจิตให้เกิด ปัญญา คือ วิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมเป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยมานะ ความถือตน แต่เป็นบุคคลที่อ่อนน้อมแก่ผู้ที่ควรอ่อนน้อม

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดอยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ท่านก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญกิริยาวัตถุ

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล ซึ่งถ้าเป็นคนพาลไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ท่านควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมที่ท่านได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่ แม้แต่ความชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่นก็เกิดไม่ได้

๘. ธรรมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติ มิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งท่านสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ท่านก็ควรจะแสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธรรมสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจเป็นบุญ แต่ถ้าเพื่ออกุศลจิตก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ท่านควรทราบจิตใจของท่านโดยละเอียดว่า จิตใจเป็นอย่างไร

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นกุศล ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 211


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kaeboon
วันที่ 11 ส.ค. 2567

สาธุคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ