อสัปปุริสทาน และ สัปปุริสทาน

 
chatchai.k
วันที่  2 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45268
อ่าน  207

เรื่องอานิสงส์ของทาน ถ้าในปัจจุบันชาตินี้ ทานของท่านบางครั้งเป็นลักษณะของอสัปปุริสทาน บางครั้งเป็นลักษณะของสัปปุริสทาน ท่านก็ควรที่จะได้ทราบถึงผลที่ได้รับด้วยว่า ขณะนี้เป็นผลของอสัปปุริสทานในอดีต หรือว่าเป็นผลของสัปปุริสทานในอดีตที่ได้กระทำแล้ว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ย. 2566

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อสัปปุริสทานสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

อสัตบุรุษย่อมให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่อ่อนน้อม ๑ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ๑ ให้ของที่เป็นเดน ๑ ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้โดยเคารพ ๑ ให้โดยอ่อนน้อม ๑ ให้ด้วยมือตนเอง ๑ ให้ของไม่เป็นเดน ๑ เห็นผลที่จะมาถึงให้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล ฯ

ทราบไหมว่า การให้ของท่านแต่ละครั้งเป็นไปในลักษณะของอสัปปุริสทาน หรือว่าสัปปุริสทาน ซึ่งข้อความอธิบายพระสูตรนี้ ใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อสัปปุริสทาน มีข้อความว่า

คำว่า ย่อมให้ทานโดยไม่เคารพ คือ ไม่สักการะทำให้สะอาดให้

เวลาที่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าให้ไปโดยที่ไม่สักการะ ไม่เคารพในทาน ในการให้ แม้ว่าวัตถุนั้นจะเป็นวัตถุที่ไม่สะอาด ก็ไม่ทำให้สะอาดเสียก่อน ให้ไป นั่นเป็นการให้ทานโดยไม่เคารพ

คำว่า ทำความไม่ยำเกรงให้ คือ ให้โดยการไม่ยำเกรง ด้วยความไม่อ่อนน้อม

เป็นสภาพลักษณะของกิริยาอาการที่ให้ว่า ให้ด้วยความไม่ยำเกรง

คำว่า ให้ของที่เป็นเดน คือ ไม่ให้ติดต่อกัน หมายความถึง เหลือแล้วจึงให้

อาจจะไม่มีเจตนาคิดที่จะให้ก่อน เพราะไม่ให้ของที่สมบูรณ์ ประณีตดี แต่ว่าให้ของที่เหลือแล้ว หรือว่าเพราะเหลือแล้วจึงให้

อีกอย่างหนึ่ง ย่อมให้ดุจต้องการจะทิ้งเสีย

ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นของที่เหลือ ไม่ต้องการแล้ว อาการที่ให้ก็เป็นการให้โดยลักษณะเหมือนกับว่า ต้องการจะทิ้ง แทนที่จะเป็นการมอบให้ด้วยความเคารพ หรือด้วยความอ่อนน้อม

คำว่า เป็นผู้ไม่เห็นผลที่จะมาถึงให้ คือ ไม่ยังความเห็นผลที่จะเกิดขึ้น ให้ อย่างนี้ว่า ผลแห่งทานที่เราทำแล้วจักมาถึง

คือ ไม่เห็นว่าการให้แต่ละครั้งๆ นั้น จะทำให้ได้รับผลของทาน เมื่อไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็อาจจะให้ไปด้วยการไม่ทราบว่า ผลของการให้นั้นมี ซึ่งแล้วแต่การให้ว่า การให้เป็นไปในลักษณะของอสัปปุรุษ หรือว่าสัปปุรุษ

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า ทำความยำเกรงให้ คือ เข้าไปตั้งการยำเกรงทั้งในไทยธรรม ทั้งในทักขิไณยบุคคลแล้วให้ ใน ๒ อย่างนั้น บุคคลทำไทยธรรมให้ประณีต ให้มีโอชะ คือ ให้มีรสอร่อย เป็นวัตถุที่น่ายินดี ที่ควรจะรับ ถ้าทำอย่างนั้นแล้วให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในไทยธรรม ส่วนผู้เลือกบุคคลให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในทักขิไณยบุคคล คือ ในคุณความดีของผู้รับ ก็เป็นการที่ให้ด้วยความเคารพในบุคคลผู้รับ

คำว่า ผู้เห็นผลที่จะมาถึงให้ คือ เป็นผู้ที่เชื่อกรรม และก็เชื่อวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม เมื่อให้ก็รู้ว่า การให้นั้นจะเป็นปัจจัยแก่ภพในอนาคตที่จะให้ได้รับความสุข ความสะดวก ความสบายต่างๆ

สำหรับผลของทานที่เนื่องมาจากเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัปปุริสทานสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล คือ ในที่ที่ทานให้ผลเกิดขึ้น

นี่เป็นผลของการให้ด้วยศรัทธา เพราะเหตุว่าในขณะที่ให้นั้น เป็นผู้ที่มีจิตผ่องใส ไม่มีความเสียดาย แต่เป็นผู้ที่มีความชื่นชมยินดีในทานที่ให้ เพราะฉะนั้น ผลของผู้ที่ให้ทานด้วยศรัทธานั้น ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล คือ ในที่ที่ทานนั้นทำให้เกิดขึ้น

ประการต่อไป มีข้อความว่า

ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

ได้รับผลของทานข้อนี้หรือเปล่า พิสูจน์ได้จากชีวิตประจำวัน ท่านที่เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีข้าทาสบริวารมาก มีบุตร มีภรรยา มีคนใช้ บางทีบุคคลเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง

นี่เป็นผลของการให้โดยไม่เคารพ นามและรูปที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้จะให้ทานจริง เป็นเหตุให้มีทรัพย์มาก มั่งคั่ง มีโภคะมาก แต่เพราะเหตุว่าในขณะที่ให้นั้น ไม่ได้ให้ด้วยความเคารพ เพราะฉะนั้น ผลก็คือ ถึงแม้ว่าจะมีบุตร มีภรรยา มีทาส มีคนใช้ ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยโสตลงสดับ ตรงกันข้าม ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่ให้ทานโดยเคารพ ผลก็คือ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน ก็เป็นผู้ที่เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้

เพราะฉะนั้น ทานก็จำแนกไปโดยละเอียดตามควรแก่เหตุ

ประการต่อไป มีข้อความว่า

ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

หมายความว่า เวลาที่ท่านมีความปรารถนา มีความจำเป็น มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านย่อมได้รับสิ่งนั้นที่เป็นประโยชน์สนองความต้องการ ความปรารถนา หรือความจำเป็นนั้นทันที เป็นผลของการให้ทานโดยกาลอันควร ถ้าขณะใดที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังต้องการการสงเคราะห์ การช่วยเหลือทันที แต่ท่านยังรีรอ คิดไปคิดมาก่อน ท่านไม่ได้ให้ทานโดยกาลอันควร เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วัตถุ โภคทรัพย์ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็อาจจะได้ แต่ว่าช้า

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้นในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

เพราะฉะนั้น ผลขอทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์เช่นนี้ ย่อมทำให้ท่านเป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น เพราะว่าบางท่านมีวัตถุ มีของใช้สวยๆ งามๆ ประณีต แต่ไม่ยอมใช้ แต่เวลาที่ท่านมีจิตอนุเคราะห์ให้บุคคลอื่นได้ใช้ด้วยความสะดวก สุขสบาย จิตของท่านก็ย่อมน้อมไปเพื่อจะใช้วัตถุที่อำนวยความสุขสบายที่ประณีตยิ่งขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ย. 2566

ข้อต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร และจากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

เป็นผู้ที่ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ผลคือ จะพ้นจากอันตรายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทซึ่งไม่เป็นที่รัก เพราะว่าคนที่ไม่เป็นที่รัก หรือทายาทที่ไม่เป็นที่รักทำความเดือดร้อนให้ได้ไหม ทรัพย์ที่มีอยู่ก็เอาไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือว่าอาจจะทุจริตเอาไปในทางที่ไม่ควร นั่นก็เป็นการที่ทำให้ทรัพย์นั้นมีอันตราย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล

เป็นผลที่เกิดจากเหตุที่ละเอียดขึ้น ซึ่งท่านพิสูจน์ได้จากชีวิตของท่านเอง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 212

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 213

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ