ทำยังไงให้หายโกรธ

 
เอกพันธ์
วันที่  1 ส.ค. 2550
หมายเลข  4418
อ่าน  2,929

คือเวลาผมนึกถึงคนๆ หนึ่งซึ่งไม่เคยชอบพอกันเท่าไร เคยมีเรื่องกัน จิตใจมันก็รู้สึกโกรธเคือง บางวันนอนก็ไม่หลับ ผมก็ลองเจริญเมตตา แผ่เมตตานะแต่ก็ไม่เป็นผล ถึงแม้พยายามจะไม่คิดเรื่องของคนนี้แต่ก็ไม่เป็นผล ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 1 ส.ค. 2550

ควรทราบตามความเป็นจริงว่า บุคคลที่ไม่มีความโกรธอีกเลย คือพระอนาคามีและพระอรหันต์ ดังนั้นถ้าต้องการดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท คือความโกรธ จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญาจนบรรลุความเป็นพระอนาคามีบุคคลแต่ในเบื้องต้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมเข้าใจ สภาพธรรมมากขึ้น ความโกรธย่อมค่อยๆ น้อยลง ตามกำลังของปัญญา สำหรับการอบรมเจริญเมตตาถ้าอบรมเจริญเมตตาอย่างถูกต้อง จนเมตตาเจริญ มีกำลังมากขึ้นๆ เมตตาย่อมข่มความโกรธได้เพียงชั่วคราว เมื่อเมตตาไม่เกิด ความโกรธย่อมเกิดขึ้นได้อีก

ขอเชิญคลิกอ่านเมตตาที่นี่

การแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และเมื่อไร

คุณธรรมที่ควรอบรมในชีวิตประจำวัน คือ เมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 1 ส.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 610

เมื่อผู้ทำความผิดมีคุณ เราไม่ควรทำความโกรธในผู้มีคุณ. เมื่อไม่มีคุณ ควรแสดงความสงสารเป็นพิเศษ. ยศอันเป็นคุณของเราย่อมเสื่อมเพราะความโกรธ.สิ่งเป็นข้าศึกทั้งหลายมีผิวพรรณเศร้าหมองและการอยู่เป็นทุกข์เป็นต้น ย่อมมาถึงเราด้วยความโกรธ. อนึ่ง ชื่อว่าความโกรธนี้กระทำสิ่งไม่เป็นประโยชนได้ทุกอย่างยังประโยชน์ทั้งปวงให้พินาศ เป็นข้าศึกมีกำลัง.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 ส.ค. 2550

ให้คิดถึงความตายบ่อยๆ ทำให้สลด งอกลับ ถอยกลับจากอกุศลได้ ถ้าสะสมความโกรธมากขึ้น ชาติหน้าเราก็จะโกรธมากกว่าชาตินี้อีก ความโกรธทำให้ไปทุคติภูมิ คนโกรธไม่รู้ธรรมะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 1 ส.ค. 2550

โกรธได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าถึงกับเกลียด เพราะนั้นเป็นกิเลสที่ลึก ถ้าเราผูกโกรธจนกลายเป็นศัตรู เกิดชาติหน้าก็เป็นศัตรูกันอีก ถ้าจะเจริญเมตตาก็เริ่มต้นด้วยการไม่ผูกโกรธ และให้อภัยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ajarnkruo
วันที่ 1 ส.ค. 2550

โกรธเกิดได้กับทุกชีวิตโดยมีเหตุมีปัจจัย ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนมีปฏิฆนุสัยอยู่เต็มเปี่ยม ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทเหมือนพระอนาคามี ถ้าสติไม่เกิดเวลาโกรธ ความไม่รู้สภาพธรรมก็ปิดบังว่าเป็นเราเป็นตัวตนที่ต้องโกรธ แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นจึงจะเห็นโทษของความโกรธว่า โกรธเป็นสภาพธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจหรือยินดีที่จะโกรธ จนถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะส่งผลให้คิดปองร้ายทางวาจา หรือทางกายในภายหลัง หากยังสั่งสมพอกพูนไว้แผดเผาจิตใจให้ทุกข์ร้อนไม่จบสิ้น

ขอเชิญฟังธรรมครับ

พึงละความโกรธ

อโหสิกรรม ๖ ประการคืออะไร

จิตสงบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พรหมวิหารสี่เป็นอย่างไร

เมตตา คือ อโทสะ หรือ ความไม่โกรธ


สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย

อย่าได้อาฆาตพยายาทซึ่งกันและกันเลย

อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย

จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
panee.r
วันที่ 1 ส.ค. 2550

ความโกรธเป็น ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะกลุ้มรุมทำให้ไม่เป็นสุข ถ้ามีสติระลึกลักษณะของความโกรธ (โทสะ) ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ขณะนั้นไม่ได้โกรธเพราะกุศลจิตไม่เกิด ร่วมกับอกุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natnicha
วันที่ 1 ส.ค. 2550

ถ้านึกถึงเขาแล้วรู้สึกโกรธก็อย่าไปนึกถึงเขา หาสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ทำจะดีกว่า ตอนนี้ถึงเราโกรธเขา ไม่สบายใจเป็นทุกข์ใจ แต่เขาอาจจะมีความสุข หัวเราะสบายใจ อยู่ก็ได้ ทำไมเราต้องมานั่งจมอยู่กับความทุกข์กับจิตที่เป็นอกุศลอยู่คนเดียวล่ะ คะ คนเรามักเป็นทุกข์เพราะความคิด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 1 ส.ค. 2550

ระลึกถึงพระโอวาทของพระพุทธเจ้าเรื่อง โทษของความโกรธและระลึกถึงความดีของเขา เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kanchana.c
วันที่ 3 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 24 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 31 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ