พึงละความโกรธ


    ด้วยเหตุนี้พระสูตรต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ถ้าท่านพิจารณามากๆ บ่อยๆ ใคร่ครวญให้เห็นประโยชน์จริงๆ ของการที่จะละความโกรธ ท่านก็จะเจริญหนทางที่จะทำให้ละคลายความโกรธลงได้บ้าง

    ถ้าท่านผู้ใดกำลังโกรธ หรือกำลังผูกโกรธใครอยู่ก็ตาม ก็ควรพิจารณาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗ ซึ่ง มีข้อความว่า

    บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสียทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล

    ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น เป็นการแสดงการปรากฏให้รู้ถึงกิเลสที่มีอยู่ในใจว่า เป็นสังโยชน์ เป็นสิ่งที่ผูกพันท่านไว้ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ลักษณะของความโกรธที่เกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสติระลึกรู้ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นประโยชน์ เพราะท่านได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่สะสมมาว่า ยังมีกิเลสอะไรอีกมากน้อยเท่าไรที่ปรากฏให้รู้ เพื่อที่จะได้ละเสีย ด้วยการที่สติระลึกรู้ในขณะนั้น ผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป จึงจะไม่มีกิเลสเครื่องกังวล

    บุคคลใดแล พึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี คนนอกนี้เป็นคนถือเชือก

    ถ้าจะเป็นสารถีจริงๆ จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในสภาพธรรมจนสามารถที่จะระงับดับกิเลสได้ แต่ผู้ที่กำลังขัดเกลา ปัญญายังไม่ถึงขั้นที่สามารถดับความโกรธได้ เป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลส แต่ยังไม่ใช่สารถี เป็นผู้ที่กำลังฝึกหัดอยู่ ก็เป็นคนที่ถือเชือก

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์

    พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคลพึงไปในสำนักแห่งเทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะตอบแทนผรุสวาจาด้วยผรุสวาจา และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์

    ดูเหมือนว่าทำยาก บางท่านอาจจะบอกว่า ทำไม่ได้แน่ ยังเป็นคนที่มีกิเลสมากเหลือเกิน จะชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธนี่ยากจริงๆ แต่ขอให้ทราบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จะชนะบุคคลอื่น การชนะความโกรธที่ท่านมี เป็นกุศลจิตของท่านเองที่เกิดขึ้นชนะความโกรธ ชนะความไม่ดีด้วยความดี คือ ในขณะนั้นเป็นกุศลของท่าน ที่เจริญอบรมเพื่อชนะความไม่ดีที่มีอยู่ในตัวท่านเอง

    เวลาที่เปรียบเทียบกับบุคคลอื่น รู้สึกว่าแสนยาก ที่จะชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ หรือว่าจะชนะความไม่ดีของคนอื่นด้วยความดี แต่ถ้าคิดว่า ความไม่ดีที่กำลังมีนั้นเป็นของท่าน และจะหมดไปได้ จะชนะได้ ก็ด้วยความดีที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

    ท่านอยากจะชนะความไม่ดีของท่านไหม ไม่ต้องคิดเปรียบเทียบที่จะชนะคนอื่น เพราะถ้าเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว รู้สึกว่ายากเหลือเกิน เป็นไปไม่ได้ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าเห็นว่า ความไม่ดีนั้นเป็นของท่านเอง ซึ่งจะชนะได้ก็ด้วยความดีเท่านั้น ถ้าระลึกได้อย่างนี้ในขณะนั้น ความดีก็จะเกิดทันที

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 423


    หมายเลข 2864
    23 พ.ย. 2566