พระเจ้าอโศกมหาราช


    ขอกล่าวถึงประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่พุทธบริษัทในการที่ได้ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ รวมทั้งสุวรรณภูมินี้ด้วย

    พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในบรรดาพระราชโอรส ๑๐๑ องค์ของพระเจ้าพินทุสาร พระองค์ทรงแกล้วกล้าสามารถกว่าพระราชโอรสทั้งปวงของพระเจ้าพินทุสาร เมื่อพระเจ้าพินทุสารประชวรหนัก พระเจ้าอโศกราชกุมารทรงละราชสมบัติในกรุงอุชเชนีที่พระองค์ทรงครอบครอง และเสด็จมายึดพระนครทั้งหมดไว้ และทรงปลงพระชนม์พระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ทั้งหมด ๙๙ องค์ เว้น พระติสสราชกุมารซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาของพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น

    เห็นการสะสมไหมว่า ผู้ที่จะได้รับพระธรรม ถ้าในอดีตชาติได้เคยกระทำกรรม เคยสะสมกุศลอกุศลอย่างไรมา ชีวิตก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้นตราบเท่าที่ยังไม่ได้ฟัง พระธรรม ยังไม่ได้เข้าถึงพระธรรม ก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามกำลังของอกุศลธรรมซึ่งมีมากกว่า

    เมื่อพระเจ้าอโศกทรงปลงพระชนม์พระราชโอรสเหล่านั้น พระองค์ยังไม่ได้ทรงราชาภิเษกทันที แต่ว่าได้ทรงครองราชย์สมบัติตลอดมาถึง ๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปีแล้ว เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานได้ ๒๑๘ ปี พระองค์จึงได้ทรงปราบดาภิเษก เป็นเอกราชาในชมพูทวีป และได้ทรงสถาปนาพระติสสราชกุมารไว้ในตำแหน่งอุปราช

    วันหนึ่งพระติสสราชกุมารเสด็จประพาสป่า ทรงเห็นฝูงเนื้อหมู่ใหญ่หยอกกันอยู่ในป่า ก็ทรงพระดำริว่า เนื้อเหล่านี้เพียงแต่กินหญ้ายังหยอกกันอย่างนี้ ก็สมณะ คือ พระภิกษุเหล่านี้ฉันโภชนะในราชสกุล ทำไมจักไม่เล่นสนุกสนานชอบใจเล่า พระองค์กลับจากประพาสป่า ก็ได้กราบทูลพระวิตกของพระองค์แก่พระเจ้าอโศกมหาราช

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละคนวิจิตรสักแค่ไหน ก่อน ๔ ปีนั้น พระเจ้าอโศกไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่หลังจากนั้นแล้ว ๔ ปี ก็ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสมาก โดยที่ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เข้ามารับพระภัตตาหารในพระราชสถานชั้นในเป็นประจำ แต่ว่าพระติสสราชกุมารซึ่งเป็นอุปราชมีความเห็นว่า พวกเนื้อทั้งหลายซึ่งเพียงกินหญ้าอยู่ในป่าก็ยังหยอกกันสนุกสนานร่าเริง เพราะฉะนั้น ก็สมณะ คือ พระภิกษุเหล่านั้น ซึ่งฉันโภชนะอันประณีตในราชสกุล ทำไมจักไม่เล่นสนุกสนานชอบใจเล่า

    พระเจ้าอโศกทรงพระดำริว่า พระติสสราชกุมารทรงรังเกียจในฐานะอันไม่ควร คือ รังเกียจพระภิกษุสงฆ์ผู้ซึ่งประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ พระองค์จึงทรงดำริอุบายที่จะทำให้พระติสสราชกุมารทรงเข้าพระทัยถูก

    วันหนึ่งก็ทรงกระทำประหนึ่งว่ากริ้ว แล้วทรงคุกคามให้พระติสสราชกุมารกลัวตายว่า จงมารับครองราชย์ตลอด ๗ วัน จากนั้นไป จักฆ่าเธอเสีย

    พระติสสราชกุมารก็ไม่ทรงสนุกสนานเพลิดเพลินเลย เพราะว่าทรงเข้าพระทัยว่า อีก ๗ วันก็จะต้องตาย ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ตรัสถามว่า

    ทำไมจึงไม่เล่นสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสุข

    พระติสสราชกุมารก็กราบทูลว่า

    เพราะกลัวตาย

    พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ตรัสชี้แจงให้เห็นว่า พระติสสราชกุมารเห็นความตายที่ได้กำหนดไว้ยังหมดความสนุกสนาน เพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ผู้ซึ่งพิจารณาความตายที่มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จะสนุกได้อย่างไร

    ตั้งแต่บัดนั้นมา พระติสสราชกุมารก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และใคร่ที่จะบวช ในที่สุดก็ได้กราบทูลขออนุญาตพระเจ้าอโศกมหาราชผนวช ซึ่งเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ทรงสามารถที่จะให้พระราชกุมารกลับพระทัยได้ ก็ได้ทรงจัดการ การผนวชของพระติสสราชกุมารผู้ทรงเป็นพระยุพราชอย่างสมพระเกียรติ และในครั้งนั้นพระภาคิไนยของพระองค์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าอัคคิพรหมกุมาร ซึ่งเป็นสวามีของพระนางสังฆมิตตา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระองค์เองนั้น ก็ได้ทรงผนวชในวันนั้นเอง

    แสดงให้เห็นว่า การบวชย่อมสูงสุดแม้กว่าตำแหน่งอุปราช เพราะพระติสสราช-กุมารแม้ว่าทรงเป็นอุปราชแล้ว ก็ยังใคร่ที่จะได้ทรงผนวช

    พระติสสราชกุมาร และพระเจ้าอัคคิพรหมกุมาร ทรงผนวชในกาลที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงราชาภิเษกได้ ๔ ปี ส่วนพระมหินทกุมารพระราชโอรส และพระนางสังฆมิตตาพระราชธิดา ทรงผนวชหลังจากนั้น ๒ ปี คือ ในกาลที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงราชาภิเษกได้ ๖ ปี

    ในกาลที่ทรงผนวชนั้น พระมหินทกุมารมีพระชนม์ครบ ๒๐ พรรษา ทรงบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ณ สถานที่ที่ทรงผนวชนั้นเอง

    ความจริงพระมหินทกุมารก็มีพระประสงค์ที่จะทรงผนวชตั้งแต่พระติสสราช-กุมารทรงผนวช แต่ก็ได้ทรงรอมาจนกระทั่งมีโอกาสในภายหลัง

    พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาในปีที่ ๔ หลังจากทรงบรม-ราชาภิเษกแล้ว ก่อนนั้นพระองค์ทรงถือลัทธินอกพระพุทธศาสนาอยู่ ๓ ปี ซึ่งพระเจ้าพินทุสารก็ทรงนับถือพราหมณ์ และได้ทรงตั้งนิตยภัตถวายนักพรตเป็นจำนวนมากผู้ที่เป็นพราหมณ์ และเป็นผู้ที่นับถือลัทธิปาสาณฑะ ซึ่งมีกำเนิดเป็นพราหมณ์

    แม้พระเจ้าอโศกมหาราชเองก็ได้ทรงถวายทานตามที่พระราชบิดาทรงบำเพ็ญมาในพระราชวังชั้นในของพระองค์อย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นการบริโภคของนักพรตผู้มารับภัตตาหารในพระราชวังชั้นใน ซึ่งบริโภคอาหารด้วยมารยาทที่ปราศจากความสงบ มีอินทรีย์ไม่สำรวม ก็ไม่ทรงเลื่อมใส แล้วก็ทรงแสวงหานักพรตอื่นๆ มาอีก ก็เป็นผู้ที่บริโภคด้วยมารยาทที่ปราศจากความสงบ มีอินทรีย์ไม่สำรวมอีก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทรงเลื่อมใสอีก

    วันหนึ่งได้ทรงทอดพระเนตรเห็นนิโครธสามเณรกำลังเดินไปทางประตูทิศตะวันออก ท่านเป็นผู้ที่มีอินทรีย์สงบ เพราะว่ามีจิตที่ฝึกแล้วคุ้มครอง พระเจ้าอโศกมหาราชเพียงเห็น ก็ทรงเลื่อมใส ทรงมีเมตตาธรรมต่อสามเณรอย่างลึกซึ้ง เพราะอดีตชาติเคยอยู่ร่วมกัน ทรงนิมนต์นิโครธสามเณรมารับพระภัตตาหาร และได้ทรงฟังธรรมด้วย

    ประวัติของนิโครธสามเณรมีว่า

    ในวันที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมายึดพระนครทั้งหมดไว้ ได้ทรงจับ พระสุมนราชกุมารซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าพินทุสาร พระนางสุมนาซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุมนราชกุมารกำลังทรงครรภ์ครบกำหนด พระนางได้ทรงปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก แล้วเสด็จมุ่งไปยังหมู่บ้านคนจัณฑาลซึ่งอยู่ไม่ไกล แล้วได้ทรงประสูติพระกุมารในวันนั้น ที่ศาลาใกล้บ้านของคนจัณฑาล หัวหน้าคนจัณฑาลก็ได้ปฏิบัติบำรุงพระนางสุมนาประหนึ่งธิดาแห่งเจ้านายของตน เมื่อกุมารนั้นมีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้อุปสมบทเป็นสามเณร

    ในอดีตกาล พระเจ้าอโศกมหาราช พระติสสราชกุมาร และนิโครธสามเณร ได้เกิดเป็นชายพี่น้อง ๓ คน เป็นพ่อค้าขายน้ำผึ้ง คนหนึ่งขาย อีก ๒ คนเข้าป่าหาน้ำผึ้ง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงมีบาดแผล ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งได้เสด็จไปเพื่อบิณฑบาตน้ำผึ้ง เพื่อที่จะนำมารักษาพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ทรงมีบาดแผล หญิงผู้หนึ่งกำลังเดินไปตักน้ำที่แม่น้ำ ได้ทราบความประสงค์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็ได้ชี้ทางให้พระองค์ไปบิณฑบาตที่ร้านพ่อค้าน้ำผึ้งนั้น

    พ่อค้าน้ำผึ้งผู้น้องซึ่งเป็นผู้ขาย มีจิตเปี่ยมด้วยศรัทธา ได้ถวายน้ำผึ้งเต็มเปี่ยมขอบบาตรจนล้น ขณะที่เห็นน้ำผึ้งไหลลงล้นขอบบาตรตกสู่พื้นดินนั้น ก็ได้ตั้งจิตปรารถนาว่า ด้วยผลบุญนี้ ขอให้ได้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป ให้มีพระราชอาญาแผ่ไปภายใต้มหาปฐพีในที่ประมาณ ๑ โยชน์ บนอากาศแผ่ไปในที่ประมาณ ๑ โยชน์

    ซึ่งเมื่อพี่ชายทั้ง ๒ มาถึง พ่อค้าน้ำผึ้งผู้น้องก็ให้พี่ชายร่วมอนุโมทนากุศลที่ได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย เพราะว่าพี่ชายทั้งสองก็ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของน้ำผึ้งร่วมกัน พี่ชายคนโตกล่าวอย่างเสียดาย และด้วยความไม่เต็มใจว่า คงจะเป็นพวกจัณฑาลแน่ล่ะ เพราะว่าพวกจัณฑาลชอบนุ่งห่มผ้าสีอย่างนั้น

    อกุศลจิตเกิดแล้ว ไม่ได้มีจิตศรัทธาในพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เข้าใจด้วยการที่เป็นอกุศลว่า บุคคลนั้นคงจะเป็นคนจัณฑาล เพราะว่าคนจัณฑาลชอบนุ่งห่มผ้าสีอย่างนั้น

    พี่ชายคนที่ ๒ ได้กล่าวว่า ขอให้ได้ข้ามฝั่งไปกับพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย

    นี่คือความต่างกันของจิตซึ่งสะสมมา

    แต่เมื่อพี่ชายทั้งสองได้ทราบว่า จะมีส่วนในผลบุญที่ได้ถวายน้ำผึ้งนั้นด้วย พี่ชายทั้งสองก็ยินยอมอนุโมทนาในกุศลนั้นด้วย ส่วนหญิงผู้ชี้ทางให้พระปัจเจกพุทธเจ้าไปบิณฑบาตที่ร้านพ่อค้าน้ำผึ้งนั้น ก็ได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระมเหสีของพ่อค้าน้ำผึ้งผู้ถวายน้ำผึ้ง และขอให้มีขาแขนที่งดงามสมส่วน

    และในชาตินี้ พ่อค้าน้ำผึ้งผู้ถวายน้ำผึ้งก็ได้มีกำเนิดเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช หญิงผู้ชี้ทางก็ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์ พระนามว่าอสังฆมิตตา พ่อค้าผู้พี่ที่ได้กล่าวคำว่า จัณฑาล ก็เป็นนิโครธสามเณร

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องรับผลของกรรมในการที่กล่าวคำว่า จัณฑาล ด้วยการที่อยู่ร่วมกับพวกจัณฑาลตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงอายุ ๗ ขวบที่บวช

    พ่อค้าผู้กล่าวว่า ขอให้ได้ข้ามฝั่ง ก็ได้เป็นพระติสสพระราชกุมารร่วม พระมารดากับพระเจ้าอโศกมหาราช

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อานิสงส์ของกุศลที่ท่านอาจจะคิดว่าเล็กน้อย เพียงชี้ทางให้พระปัจเจกพุทธเจ้าไปบิณฑบาตที่ร้านพ่อค้าน้ำผึ้งก็สามารถที่จะให้ผล คือ ให้ สมปรารถนาที่จะได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ซึ่งเป็นพ่อค้าน้ำผึ้ง ผู้ถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ส่วนนิโครธสามเณรเพียงแต่อกุศลจิตคิดว่า คงจะเป็นพวกจัณฑาลแน่เพราะพวกจัณฑาลชอบห่มผ้าสีอย่างนั้น ก็ต้องรับผลของกรรมด้วยการอยู่ร่วมกับพวกจัณฑาล แต่เพราะได้เคยตั้งความปรารถนาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้ได้รับการบำรุงอุปัฏฐากอย่างดีจากพวกจัณฑาล และได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ด้วย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712


    หมายเลข 3126
    31 ธ.ค. 2566