ตัณหานุสัย ทำไมไม่อยู่ในอนุสัย 7 ครับ

 
วินัย ไกรสีห์
วันที่  14 ก.ย. 2565
หมายเลข  43835
อ่าน  591

ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้าที่ 283 มีคำว่าตัณหานุสัย

" ต้นไม้ เมื่อรากไม่มีอันตราย ยังมั่นคง ถึง

บุคคลตัดแล้ว ย่อมงอกขึ้นได้อีกทีเดียว แม้ฉันใด,

ทุกข์นี้ เมื่อตัณหานุสัย อันบุคคลยังขจัดไม่ได้แล้ว

ย่อมเกิดขึ้นร่ำไป แม้ฉันนั้น...ฯลฯ

_________________________

ผมสงสัยว่าทำไมในอนุสัย 7 ไม่มีตัณหานุสัยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 ก.ย. 2565

ขอนอบนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ละคำเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ

คำว่า "อนุสัย" หมายถึง กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในจิต เป็นกิเลสที่ไม่เกิดขึ้น หรือ อีกนัยหนึ่ง เป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ ซึ่งจะละได้ ก็ด้วยปัญญในระดับที่เป็นโลกุตตระ เท่านั้น อนุสัย มี ๗ ประการ ได้แก่

๑. กามราคานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง ซึ่งก็คือ โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ มานะ ความสำคัญตน

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ โลภะ ความติดข้องในภพ ยินดีในการเกิด

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ โมหะ ความไม่รู้


กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ (วีติกกมกิเลส) เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะ กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต (ปริยุฏฐานกิเลส) แต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลาง จะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ตัดได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลางและกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

อนุสัยกิเลส เปรียบเหมือนกับเชื้อโรคที่ฝังอยู่ในร่างกาย ไม่ปรากฏตัวให้รู้ได้ ต่อเมื่อใดที่โรคเกิดกำเริบขึ้น จึงรู้ได้ว่า ก็มาจากเชื้อโรคนั้นนั่นแหละ ขณะที่โรคกำเริบขึ้น เปรียบเหมือนกับการเกิดขึ้นของกิเลสขั้นกลาง และ ขั้นหยาบ ซึ่งมีพืชเชื้อมาจากกิเลสที่ละเอียด นั่นเอง


จากประเด็นคำถาม คำว่า ตัณหานุสัย ก็มุ่งหมายถึง อนุสัยคือโลภะ นั่นเอง ซึ่งอนุสัยที่เป็นโลภะ จำแนกเป็น ๒ ประการ คือ กามราคานุสัย กับ ภวราคานุสัย
ผู้ที่จะดับกามราคานุสัยได้ คือ พระอนาคามีบุคคล และผู้ที่จะดับภวราคานุสัยได้ คือ พระอรหันต์ ดังนั้น จากข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ที่ปรากฏในคำถาม มุ่งหมายถึง ภวราคานุสัย เพราะถ้ายังไม่ได้ดับภวราคานุสัย ด้วยอรหัตตมรรค ก็ยังมีการเกิดอยู่ร่ำไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๒๘๔ ดังนี้

ทุกข์นี้ ที่ต่างด้วยทุกข์ มีชาติทุกข์ เป็นต้น เมื่ออนุสัย คือ ความนอนเนื่องแห่งตัณหา อันเป็นไปทางทวาร ๖ อันพระอรหัตมรรคญาณ ยังไม่ขจัด คือ ยังตัดไม่ขาดแล้ว ย่อมเกิดร่ำไปในภพนั้นๆ จนได้ ฉันนั้นนั่นแล.


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วินัย ไกรสีห์
วันที่ 15 ก.ย. 2565

กราบสาธุอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ