ทำไมพระพุทธเจ้าต้องตรัสถาม

 
ดาว นพรัตน์
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43965
อ่าน  512

ทำไมพระพุทธเจ้าต้องตรัสถามด้วยคะในเมื่อพระองค์ทรงรู้ทุกอย่าง ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสถามไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังผู้ศึกษาเป็นสำคัญเพื่อประโยชน์จะได้คิดพิจารณาไตร่ตรองเป็นปัญญาของผู้ฟังเอง ประโยชน์ของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง โดยที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว พระบารมีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงสะสมอบรมมาก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ด้วยการทรงแสดงความจริง เกื้อกูลแก่สัตว์โลก แม้การตรัสถามปัญหาของพระองค์ ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังผู้ศึกษาเท่านั้นจริงๆ

ข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แสดงถึงการถามปัญหาในลักษณะต่างๆ หลากหลายนัย แต่สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ตรัสถาม เพื่อประโยชน์ให้ผู้ฟังได้คิดพิจารณาไตร่ตรอง เข้าใจถูก รับรองตามความเป็นจริง และ ตรัสถาม เพื่อที่พระองค์จะตรัสตอบเอง ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟังผู้ศึกษา

ข้อความในข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ที่แสดงถึงการถามปัญหา มีดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - ๑๘๔

ชื่อว่าคำถามในพระบาลีนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑.อทิฏฐโชตนาปุจฉา - คำถามเพื่อส่องลักษณะที่ยังไม่เห็น ให้กระจ่าง

๒.ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา - คำถามเทียบเคียงลักษณะที่เห็นแล้ว

๓. วิมติเฉทนาปุจฉา - คำถามเพื่อตัดความสงสัย

๔. อนุมติปุจฉา - คำถามเพื่อการรับรอง

๕. กเถตุกัมยตาปุจฉา - คำถามเพื่อประสงค์จะตอบเอง

ในบรรดาคำถามเหล่านั้น อทิฏฐโชตนาปุจฉา เป็นไฉน?

ตามปกติลักษณะที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้ไตร่ตรองยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่ได้อธิบาย บุคคลย่อมถามปัญหา เพื่อรู้ เพื่อเห็นเพื่อพิจารณาเพื่อไตร่ตรอง เพื่ออธิบายลักษณะนั้น นี้ชื่อว่า อทิฏฐโชตนาปุจฉา

ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา เป็นไฉน? ตามปกติลักษณะที่รู้แล้วเห็นแล้ว พิจารณาแล้ว ไตร่ตรองแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว อธิบายแล้ว บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อต้องการจะเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตเหล่าอื่น นี้ชื่อว่า ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา

วิมติเฉทนาปุจฉา เป็นไฉน? ตามปกติบุคคลเป็นผู้มักสงสัย มักระแวง เกิดความแคลงใจว่า อย่างนี้หนอ? ไม่ใช่หนอ? อะไรหนอ? อย่างไรหนอ? บุคคลนั้นย่อมถามปัญหาเพื่อต้องการตัดความสงสัย นี้ชื่อว่า วิมติเฉทนาปุจฉา

อนุมติปุจฉา เป็นไฉน? พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามปัญหาเพื่อการรับรองของภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? (ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า) ก็รูปที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์หรือเป็นสุข? (เป็นทุกข์พระเจ้าข้า) พึงกล่าวคำทั้งหมด นี้ชื่อว่า อนุมติปุจฉา

กเถตุกัมยตาปุจฉา เป็นไฉน? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหา ด้วยมีพุทธประสงค์จะทรงตอบแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ อะไรบ้าง? ฯลฯ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งมรรค ๘ เหล่านี้ องค์แห่งมรรค ๘ อะไรบ้าง? นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา

ในบรรดาปุจฉา ๕ ประการดังพรรณนามานี้ เบื้องต้น อทิฏฐโชตนาปุจฉา ย่อมไม่มีแก่พระตถาคต เพราะธรรมอะไรๆ ที่พระองค์ไม่ทรงเห็นไม่มี แม้ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ก็ไม่มี เพราะไม่เกิดการประมวลพระดำริว่า ลักษณะชื่อนี้ เราจักแสดงเทียบเคียงกับสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตเหล่าอื่น ดังนี้เลย อนึ่ง เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงมีความลังเล ความสับสน แม้ในธรรมสักข้อเดียว พระองค์ทรงตัดความสงสัยทั้งปวงได้ ณ โพธิมัณฑสถานนั่นแล ฉะนั้น แม้วิมุติเฉทนาปุจฉาก็ไม่มีแน่นอน. แต่ปุจฉา ๒ ประการนอกจากที่กล่าวมาแล้ว (อนุมติปุจฉา และ กเถตุกัมยตาปุจฉา) ย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ดาว นพรัตน์
วันที่ 18 ก.ย. 2565

สาธุอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 18 ก.ย. 2565

กราบขอบพระคุณ อ.คำปั่น และยินดีในกุศลด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
capacitor4
วันที่ 23 ก.ย. 2565

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาในทุกๆ ความดีค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ