สงสัยกับคำสอน อยากขอคำแนะนำค่ะ

 
สุขทางใจ
วันที่  24 พ.ค. 2565
หมายเลข  43151
อ่าน  726

เชื่อเรื่องคำสอนของครูบาอาจารย์เรื่องการทำบาปและบุญ หรือเรื่องการให้อภัย กรรมใครกรรมมันแบบนั้น แต่หลายครั้งสงสัยว่าคำสอนเหล่านี้มันคือความจริงแบบที่เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือแค่เพื่อไม่ให้สังคมมันวุ่นวายเพราะคนไม่ยอมกัน เพื่อที่จะต้องให้มีคนที่ได้รับรู้คำสอนเป็นผู้ที่ต้องยอมและอภัยจะได้จบกันหรือเปล่าคะ อยากจะให้ช่วยอธิบายเป็นคำง่ายๆ แบบสอนคนๆ นึงเพื่อที่จะได้ข้ามผ่านความรู้สึกนี้ไปได้สักทีค่ะ ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำที่ว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น (เป็นการแสดงถึงความให้อภัย) ซึ่งได้ยกข้อความมาอธิบายไว้แล้ว ตามข้อความในพระไตรปิฎก ข้างล่างนี้

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๕๙

ข้อความตอนหนึ่งจาก...

เรื่องทีฆาวุกุมาร

พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุราชกุมารเสด็จพระดำเนินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสพระบรมราโชวาทนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับได้เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะการไม่จองเวร

พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชได้ตรัสถามความข้อนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อทีฆาวุ พระชนกของเธอได้ตรัสคำเมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่เวรทั้งหลายย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร ดังนี้ พระชนกของเธอได้ตรัสคำนั้น หมายความว่าอย่างไร

ทีฆาวุราชกุมารกราบทูลว่า ขอเดชะ พระชนกของข้าพระพุทธเจ้าได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า

เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว ดังนี้ หมายความว่า เจ้าอย่าได้จองเวรให้ยืดเยื้อ เพราะฉะนั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันนี้ไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว พระชนกของข้าพระพุทธะเจ้าได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันใดไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า

เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น ดังนี้ หมายความว่า เจ้าอย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก เพราะฉะนั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันนี้ไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า ได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันใดไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคต ว่า

พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร ดังนี้ หมายความว่า พระชนกและชนนีของข้าพระพุทธเจ้า ถูกพระองค์ ปลงพระชนมชีพ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปลงพระชนมชีพของพระองค์เสียบ้าง คนเหล่าใดใคร่ความเจริญแก่พระองค์ คนเหล่านั้นจะพึงปลงชีวิตข้าพระพุทธเจ้า คนเหล่าใดใคร่ความเจริญแก่ข้าพระพุทธเจ้า คนเหล่านั้นจะพึงปลงชีวิตของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เวรนั้นไม่พึงระงับเพราะเวร แต่มาบัดนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระพุทธเจ้า และข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถวายพระชนมชีพแก่พระองค์ เป็นอันว่าเวรนั้นระงับแล้วเพราะไม่จองเวร พระชนกของข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันนี้ไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อทีฆาว เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร


ทุกอย่างก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ไม่พ้นจากจิต เจตสิกและรูป และแม้การให้อภัย ก็ไม่พ้นจากจิตและใจ รวมทั้ง สภาพธรรมที่เป็น เจตสิกด้วยครับ

ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจก่อนครับว่า ภัย และ อภัย หมายถึงอะไร

อภัย หมายถึง การให้ซึ่งความไม่น่ากลัว เพราะ ภัย หมายถึง ความน่ากลัว และนำมาซึ่งความน่ากลัว อภัย จึงเป็นความไม่น่ากลัว นำมาซึ่งความไม่น่ากลัว

ตามที่กล่าวแล้วว่า เป็นเรื่องของจิตใจภายในเป็นสำคัญ แม้แต่ ภัย ความน่ากลัว ก็ไม่พ้นจากกิเลสนั่นเองที่เป็นภัย นำมาซึ่งความน่ากลัว ทั้งกิเลสเองที่เป็นภัย เป็นสิ่งที่น่ากลัว และ นำมาซึ่งความน่ากลัว เพราะทำให้จะต้องได้รับความทุกข์กายและทุกข์ใจเพราะมีกิเลสที่เป็นภัย นำมาให้ ครับ

การให้อภัย จึงเป็นเรื่องของจิตใจของผู้นั้นเอง ที่ไม่มีภัย คือ กิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้นไม่มีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ที่เป็นภัย เป็นกิเลสเกิดขึ้น เมื่อใดที่จิตเป็นกุศล มีเมตตา ขันติ เป็นต้น ชื่อว่า ให้อภัยแล้วชั่วขณะจิตนั้น เพราะจิตเป็นกุศล ไม่มีภัย คือกิเลสเกิดขึ้น ดังนั้น สำคัญที่ใจ แม้วาจา จะพูดได้ว่า ให้อภัย แต่ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร หากเป็นอกุศล โกรธอยู่ จะชื่อว่าให้อภัยไม่ได้เลย เพราะมีภัย คือ กิเลสเกิดขึ้นครับ แต่ถ้าใจให้อภัย คือ ไม่โกรธ เป็นกุศล มีเมตตาในขณะนั้น แม้ไม่กล่าวว่าให้อภัย ก็ให้อภัย ให้ความไม่มีเวร กับผู้อื่นและตนเองแล้วในขณะนั้นครับ

ดังนั้น ให้อภัย กับไม่ให้อภัย ก็สามารถเกิดสลับได้ เพราะเป็นการเกิดขึ้นของจิตขณะนั่นเองครับ เมื่อใด มีเมตตา เป็นกุศล ไม่โกรธ ก็ให้อภัยขณะหนึ่ง แต่พอนึกถึงอีก ก็โกรธ ขณะที่โกรธ ก็ต้องตรง มีภัยแล้วในขณะนั้น คือ กิเลส ก็ไม่ให้อภัยในขณะนั้น ก็เกิดสลับกันระหว่างกุศล อกุศลอยู่อย่างนี้ แต่โดยมากก็อกุศลเกิดบ่อย และถ้าเกิดบ่อยจนมีกำลัง ก็เป็นความผูกโกรธที่ไม่ให้อภัยเกิดบ่อยๆ นั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สุขทางใจ
วันที่ 24 พ.ค. 2565

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริง ทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงเกื้อกูลแก่สัตว์โลกเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง แม้แต่เรื่อง บุญ บาป การให้อภัย และ สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นอันมาก เพื่อความเข้าใจถูก เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่จะก่อให้เกิดโทษ มีแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เท่านั้น ถ้าได้ศึกษาและเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ประโยชน์มหาศาลจริงๆ ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะถ้าไม่เริ่มฟัง ไม่เริ่มศึกษา ก็จะไม่มีทางเข้าใจได้เลย ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล

ถึงใครจะโกรธก็ไม่โกรธตอบ รู้จักให้อภัย

ยังอยากจะโกรธเหมือนกับผู้กำลังโกรธอยู่หรือ

ถ้าเราไม่เป็นเพื่อนกับเขา ใครจะเป็นเพื่อนกับเขา

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สุขทางใจ
วันที่ 28 พ.ค. 2565

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ และคำสอนค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ