พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ทุกกรสูตร ว่าด้วยธรรมที่ทําได้ยาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36178
อ่าน  436

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 92

๗. ทุกกรสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ทําได้ยาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 92

๗. ทุกกรสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ทำได้ยาก

[๓๖] เทวดากล่าวว่า

ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของคนพาล.

[๓๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะ สิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติดขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน อันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 93

อรรถกถาทุกกรสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุกกรสูตรที่ ๗ ต่อไป :-

บทว่า ทุตฺติติกฺขํ ได้แก่ ทนได้ยาก คือ อดกลั้นได้โดยยาก.

บทว่า อพฺยตฺเตน แปลว่า คนพาล.

บทว่า สามญฺํ แปลว่า ธรรมของสมณะ อธิบายว่า เทวดาย่อมแสดงคำนี้ว่า กุลบุตรผู้ฉลาด ฝึกสมณธรรมอันใด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๖๐ ปีบ้าง แม้ถือการฝึกอย่างยิ่ง คือ กดเพดานด้วยลิ้นบ้าง ข่มจิตด้วยจิตบ้าง เสพอยู่ซึ่งอาสนะเดียว ซึ่งภัตหนเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิต กระทำอยู่ซึ่งธรรมของสมณะ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า คนพาลผู้ไม่ฉลาดย่อมไม่อาจเพื่อกระทำซึ่งธรรมของสมณะนั้นได้ ดังนี้.

บทว่า พหูหิ ตตฺถ สมฺพาธา ความว่า เทวดาย่อมแสดงว่า ความลำบากมากของคนพาลผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุมรรคในอริยมรรค กล่าวคือ ธรรมของสมณะนั้น เพราะในส่วนเบื้องต้นย่อมมีอันตรายมาก ดังนี้.

บทว่า จิตฺตํ เจ น นิวารเย อธิบายว่า หากว่าไม่พึงห้ามจิตอันเกิดขึ้นโดยอุบายอันไม่แยบคายไซร้ ก็พึงประพฤติธรรมของสมณะได้สิ้นวันเล็กน้อย คือ พึงประพฤติได้วันหนึ่งบ้าง เพราะว่าบุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจจิต ย่อมไม่อาจเพื่อกระทำธรรมของสมณะได้.

บทว่า ปเท ปเท ได้แก่ ทุกๆ อารมณ์ จริงอยู่ ในที่นี้ ปทศัพท์ ท่านหมายถึงอารมณ์ เพราะว่า อารมณ์ใดๆ ที่กิเลสเกิด คนพาลย่อมจมอยู่ (ย่อมติดขัด) ในอารมณ์นั้นๆ ปทศัพท์ จะหมายถึงอิริยาบถด้วยก็สมควร เพราะว่า กิเลสย่อมเกิดขึ้นในอิริยาบถใดๆ มีการเดิน เป็นต้น คนพาลนั้น ชื่อว่าย่อมจมลง ในอิริยาบถนั้นๆ นั่นแหละ.

บทว่า สงฺกปฺปานํ แปลว่า มีกามวิตกเป็นต้น.

บทว่า กุมฺโมว แปลว่า เหมือนเต่า.

บทว่า องฺคานิ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 94

ได้แก่ อวัยวะทั้งหลายมีคอเป็นที่ครบห้า.

บทว่า สโมทหํ แปลว่า หดอยู่ หรือว่า หดแล้ว.

บทว่า มโนวิตกฺเก แปลว่า วิตกอันเกิดขึ้นในใจ.

พระผู้มีภาคเจ้าทรงแสดงคำนี้ไว้ด้วยคำเพียงเท่านี้ว่า เต่าหดอวัยวะทั้งหลายมีคอเป็นที่ ๕ ไว้ในกระดองของตน ไม่ให้ช่องแก่สุนัขจิ้งจอก เพราะการหดตนจึงพ้นจากอันตราย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ยั้งวิตกที่เกิดขึ้นในใจในการรักษาอารมณ์ของตน ย่อมไม่ให้ช่องแก่มาร แม้เพราะการยั้งนั้น เธอจึงถึงความไม่มีภัย ดังนี้.

บทว่า อนิสฺสิตฺโต แปลว่า เป็นผู้อันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัยไม่อาศัยแล้ว.

บทว่า อเหมาโน แปลว่า ไม่เบียดเบียนอยู่.

บทว่า ปรินิพฺพุโต แปลว่า ปรินิพพานแล้ว ด้วยกิเลสนิพพาน (ด้วยการดับสนิทแห่งกิเลส).

บทว่า นูปวเทยฺย กญฺจิ อธิบายว่า เป็นผู้ใคร่เพื่อกระทำให้เก้อด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความวิบัติแห่งอาจาระ เป็นต้น ไม่พึงกล่าวกะบุคคลไรๆ อื่น คือว่า ก็ภิกษุเข้าไปตั้งไว้ซึ่งธรรม ๕ อย่าง มีคำว่า เราจักกล่าวโดยกาลอันสมควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่สมควร เป็นต้น ไว้ในภายในแล้ว อาศัยความเป็นผู้กรุณา พึงกล่าวด้วยจิตอันดำรงไว้ในสภาพแห่งความอนุเคราะห์ ดังนี้แล.

จบอรรถกถาทุกกรสูตรที่ ๗