รูปสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

 
มศพ.
วันที่  19 พ.ย. 2562
หมายเลข  31305
อ่าน  896

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

คือ

รูปสูตร

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ หน้า ๒๑๐

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ หน้า ๒๑๐

รูปสูตร

(ว่าด้วยบุคคลเลื่อมใส ๔ จำพวก)

[๖๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกคือใคร คือ

บุคคลถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป

บุคคลถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียงกึกก้อง

บุคคลถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง

บุคคลถือธรรมเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แลบุคคล ๔ จำพวกมีปรากฏอยู่ในโลก.

(พระคาถา)

บุคคลเหล่าใดถือรูปเป็นประมาณก็ดี บุคคลเหล่าใดคล้อยไปตามเสียงกึกก้องก็ดี บุคคลเหล่านั้น ตกอยู่ในอำนาจความพอใจรักใคร่แล้ว ย่อมไม่รู้จักชนผู้นั้น คนโง่ย่อมไม่รู้ภายใน ทั้งไม่เห็นภายนอก ถูกรูปและเสียงปิดบังเสียจนรอบ คนโง่นั้น จึงถูกเสียงกึกก้องพัดพาไปได้ บุคคลใด ไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก เห็นแต่ผลในภายนอก แม้บุคคลนั้น ก็ยังจะถูกเสียงกึกก้องพัดพาไปได้ บุคคลใดทั้งรู้ภายในทั้งเห็นภายนอก เห็นแจ้ง ไม่มีอะไรเป็นเครื่องปิดบัง บุคคล นั้น ย่อมไม่ถูกเสียงกึกก้อง พัดพาไป

จบ รูปสูตรที่ ๕


อรรถกถารูปสูตรที่ ๕


พึงทราบวินิจฉัยในรูปสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บุคคลถือประมาณในรูปแล้วเลื่อมใส ชื่อ รูปัปปมาณ.

บทว่า รูปปฺปสนฺโน เป็นไวพจน์ความของ บทว่า รูปปฺปมาโณ นั้น

บุคคล ถือประมาณในเสียงกึกก้องแล้วเลื่อมใส ชื่อ โฆสัปปมาณ

บุคคลถือประมาณในความปรากฏของจีวรและบาตรแล้วเลื่อมใส ชื่อ ลูขัปปมาณ

บุคคลถือประมาณในธรรมแล้ว เลื่อมใส ชื่อ ธัมมัปปมาณ

บทนอกจากนี้ เป็นไวพจน์ความของบทเหล่านั้นนั่นแล เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นสามส่วน สองส่วนถือรูปเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือรูปเป็นประมาณ. เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นห้าส่วน สี่ส่วนถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ. เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็น ๑๐ ส่วน เก้าส่วนถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ. แต่เมื่อแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้นถือธรรมเป็นประมาณ ที่เหลือพึงทราบว่าไม่ถือธรรมเป็นประมาณ ดังนี้

บทว่า รูเปน ปามึสุ ความว่า บุคคลเหล่าใด เห็นรูปแล้วเลื่อมใสบุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ถือรูปเป็นประมาณ. อธิบายว่า นับถือแล้ว

บทว่า โฆเสน อนฺวคู ความว่า บุคคลเหล่าใด ไหลไปตามเสียงกึกก้อง. อธิบายว่า บุคคลเหล่านั้นถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณแล้วจึงเลื่อมใส

บทว่า ฉนฺทราควสูเปตา ได้แก่ ตกอยู่ในอำนาจความพอใจและรักใคร่เสียแล้ว

บทว่า อชฺฌตฺตญฺจ น ชานาติ ความว่า คนโง่ย่อมไม่รู้จักคุณข้างในของเขา

บทว่า พหิทฺธา จ น ปสฺสติ ความว่า ย่อมไม่เห็นข้อปฏิบัติข้างนอกของเขา

บทว่า สมนฺตาวรโณ ได้แก่ ถูกเสียงปิดบังเสียจนรอบ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สมันตาวรณะ เพราะเสียงกั้นไว้รอบ

บทว่า โฆเสน วุยฺหติ ความว่า คนโง่นั้น จึงถูกเสียงกึกก้องชักนำไป หาใช่ถูกคุณนำไปไม่

บทว่า อชฺฌตฺตญฺจ น ชานาติ พหิทฺธา จ วิปสฺสติ ความว่า บุคคลไม่รู้คุณข้างใน แต่เห็นการปฏิบัติข้างนอกของเขา

บทว่า พหิทฺธา ผลทสฺสาวี ความว่า เห็นผลสักการะข้างนอกที่บุคคลอื่นทำแก่เขา

บทว่า วินีวรณทสฺสาวี ความว่า เห็นอย่างไม่มีอะไรปิดบัง

บทว่า น โส โฆเสน วุยฺหติ ความว่า บุคคลนั้น จึงไม่ถูกเสียงกึกก้องชักนำไป

จบ อรรถกถารูปสูตรที่ ๕


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

รูปสูตร

(ว่าด้วยบุคคลเลื่อมใส ๔ จำพวก)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวกที่มีปรากฏอยู่ในโลก คือ

๑. บุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป (เห็นรูปที่สูง ไม่อ้วนไม่ผอม มีอวัยวะสมส่วน งามไม่มีที่ติ ถือเอาประมาณในรูปนั้น ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น)

๒. บุคคลผู้ถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียงกึกก้อง (ได้ฟังการสรรเสริญคุณ การพรรณนาคุณของบุคคลนั้นแล้ว ถือเอาประมาณในเสียงนั้น ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น)

๓. บุคคลผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง (เห็นความเศร้าหมองแห่งจีวร บาตร เสนาสนะ เป็นต้น แล้วถือเอาประมาณในความเศร้าหมองนั้น ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น)

๔. บุคคลผู้ถือธรรมเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรม (เห็นศีล สมาธิ ปัญญา ถือเอาธรรมนั้นเป็นประมาณแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น)

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

บุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ เป็นต้น [ปุคคลบัญญัติ]

ศรัทธาเป็นคำที่หุ้นหู แต่เข้าใจตรงตามความเป็นจริงหรือไม่

ความเชื่อแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มครับ?

ก่อนที่จะเลื่อมใส...ได้ฟังพระธรรมจากบุคคลนั้นแล้วหรือยัง

เลื่อมใสใคร - ไม่ลืมพิจารณา

ควรเลื่อมใส (faithfulness) ในบุคคล หรือ ควรเลื่อมใสอะไรดี

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanakase
วันที่ 19 พ.ย. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ